อีกหนึ่งประวัติความเป็นมาจากในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของ พระปีย์ หรือ ออกพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีรูปพรรณต่ำเตี้ยพิการค่อมแคระ ตามในประวัติว่ากันว่าพระนารายณ์ทรงชอบเรียกพระปีย์ว่า อ้ายเตี้ย และทรงรักโอรสบุญธรรมผู้นี้มาก แต่ในภายหลังได้ถูกสำเร็จโทษด้วยการถูกผลักจนพลัดตกลงจากหน้าต่างจนสิ้นบุญในที่สุด
เรื่องราวของ พระปีย์ โอรสบุญธรรมของพระนารายณ์
ภาพประกอบจาก ละครบุพเพสันนิวาส เก่ง ธชย รับบทแสดงเป็น พระปีย์
พระปีย์ มีความหมายว่า “ผู้เป็นที่รัก”
จากข้อมูลประวัติของพระปีย์นั้นไม่ปรากฎอยู่มากมายเท่าใดนัก ชื่อของพระปีย์นั้นมีความหมายว่า ผู้เป็นที่รัก แต่เดิมทีเขาว่ากันว่าเขาเป็นบุตรชายของ ขุนไกรสิทธิศักดิ์ ชาวบ้านแก่ง ขุนนางชั้นผู้น้อยในเมืองพิษณุโลก ซึ่งในช่วงเวลาที่พระปีย์กำเนิดมานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับเลี้ยงดูเด็กเล็กมาอุปถัมภ์ในพระราชวังหลายคน โดยทรงเลี้ยงดูอย่างดีดุจลูกหลวง มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จาก ลาลูแบร์ ซึ่งได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า
“…พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเลี้ยงไว้จนกระทั่งเด็กนั้นมีอายุได้ 7 ถึง 8 ขวบ พ้นนั้นไปเมื่อเด็กสิ้นความเป็นทารกแล้วก็จะไม่โปรดอีกต่อไป…”
พระปีย์ต่ำเตี้ยพิการค่อมแคระ แต่เป็นที่ทรงโปรดของพระนารายณ์
พระปีย์ได้ถูกถวายตัวแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่ยังเล็กๆ แต่ด้วยมีรูปพรรณต่ำเตี้ยพิการค่อมแคระ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย ถึงจะมีรูปพรรณแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ก็ทรงเป็นที่ทรงโปรดของพระนารายณ์ ว่ากันว่าเพราะพระปีย์มีโวหารดี พูดจาไพเราะอ่อนหวานเสนาะหู จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระนารายณ์ทรงรักและเอ็นดู
ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่กล่าวโจษจันกันว่าที่พระปีย์ทรงเป็นบุตรบุญธรรมทรงโปรด อาจเป็นเพราะเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งพระนารายณ์เองก็ทรงวางเฉยกับเรื่องนี้ไม่ได้มีการโต้ตอบใดๆ
พระปีย์ถูกปฎิเสธอภิเษกสมรส
สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระปีย์อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดา แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วย และขัดขืนพระราชหฤทัยพระราชบิดา เพราะพระปีย์มีพื้นฐานชาติตระกูลต่ำต้อย หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหญิงทรงมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันกับเจ้าฟ้าน้อยอยู่ก่อนแล้วก็ได้ ตามที่บันทึกของบาทหลวง เดอะ แบสระบุว่า
“ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา หรือสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย อยู่แล้ว …เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผม (บาทหลวงโกลด เดอ แบซ) ได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือ นายกงส์ต็องส์ (เจ้าพระยาวิชเยนทร์) ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์…”
ภาพในจินตนาการของ ม.วรพินิต ขอบคุณที่มาภาพจาก: www.silpa-mag.com
หุ่นเชิดทางการเมือง
ทั้งนี้พระปีย์มักตกเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ให้เป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ ด้วยเขามองว่าพระปีย์ไม่มีพิษภัย มีใจโอนอ่อนทางคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุนี้เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงหวังผลที่จะให้พระปีย์เป็นกษัตริย์เพื่อรักษาอำนาจและอิทธิพลของตน และหวังใจให้เป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่นับถือคริสต์ศาสนา นอกจากนี้พระปีย์ยังมีส่วนร่วมในการก่อกบฏเมื่อครากบฏมักกะสัน นีกอลา แฌร์แวสเป็นผู้เดียวที่ระบุว่า แขกมักกะสันจะลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์แล้วเลือกพวกเดียวกันขึ้นครองบัลลังก์ “หรือมิเช่นนั้นถ้าชาวสยามยังไม่คุ้นชินกับเจ้าต่างชาติ ก็จะยกบัลลังก์ให้พระราชโอรสบุญธรรมของพระองค์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถูกซื้อได้ไม่ยาก โดยทรงยอมเข้าพิธีสุหนัต…”
พระปีย์ถูกพระเพทราชา สำเร็จโทษด้วยการผลัก
ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปีย์ได้อยู่รับใช้สนองพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระประชวรหนัก ขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าริมหน้าต่างยามเช้า ก็ถูกขุนพิพิธรักษา สมุนของหลวงสรศักดิ์ผลักจนพลัดตกลงจากหน้าต่าง ก่อนถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 และทิ้งศพไว้ที่วัดซาก ส่วนสาเหตุที่กำจัดพระปีย์ก็เพราะพระปีย์เป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์
พบโครงกระดูกมนุษย์สันนิษฐานว่าเป็นพระปีย์
อนึ่งในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 กรมศิลปากรได้ทำการขุดสำรวจบริเวณที่ดินเอกชนผืนหนึ่งตรงข้ามวัดสันเปาโล และพบโครงกระดูกมนุษย์สองโครงห่างกัน 5 เมตร โดยโครงกระดูกโครงแรกมีรูปพรรณเตี้ย สูงเพียง 140 เซนติเมตร สวมแหวนหินที่นิ้วมือ กระดูกหน้าแข้งหัก และไม่มีศีรษะ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโครงกระดูกของพระปีย์ ส่วนอีกโครงหนึ่งมีรูปกายสูงใหญ่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) และสันนิษฐานว่าอาจมีผู้นำศพของทั้งสองมาฝังตามธรรมเนียมคริสต์ศาสนา ณ บริเวณดังกล่าว อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก
ข้อมูลจาก:th.wikipedia.org/wiki/พระปีย์, www.thairath.co.th/content/455419, พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์
อ่านเรื่องเกี่ยวกับพระปีย์ >> เล่าเรื่อง-เหยื่อรัฐประหาร โดย ส.สีมา
บทความแนะนำ
- ประวัติ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) บุพเพสันนิวาส “ราชินีแห่งขนมไทย”
- รวมข้อมูลตัวละครจากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย
- ย้อนดู ทรงผมโบราณ ของหญิงชาวสยามในอดีต
- เรียนรู้ความหมาย คำพูดโบราณใน บุพเพสันนิวาส
- ตามมาดูเครื่องสำอาง ผู้หญิงสมัยก่อน ใช้อะไรแต่งหน้า?
- โกษาปาน จากหัวหน้าคณะราชทูตไทย สู่เทียดในรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- สมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์ผู้ทรงปฏิรูปการปกครองขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
- ก๊อต-จิรายุ ผู้ที่มารับบท หลวงสรศักดิ์ | เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ หลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ