ความเชื่อโบราณ ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า

ที่มาของ “ครุฑยุดนาค” หรือ “ครุฑจับนาค” – ศึกของพี่น้องครุฑกับนาค

Home / เรื่องทั่วไป / ที่มาของ “ครุฑยุดนาค” หรือ “ครุฑจับนาค” – ศึกของพี่น้องครุฑกับนาค

ข้อมูลจาก silpa-mag ได้เผยแพร่เกี่ยวกับเรื่อง ครุฑยุดนาค หรือ ครุฑจับนาค จากในหนังสือ “สัตว์หิมพานต์” ของ ส.พลายน้อย ตามตำนานกล่าวว่าครุฑกับนาคเป็นพี่น้องกัน แต่ไม่ค่อยจะลงรอยกันสักเท่าไร

ที่มาของ “ครุฑยุดนาค” หรือ “ครุฑจับนาค”

ครุฑกับนาคเป็นพี่น้องต่างมารดา

ครุฑกับนาคเป็นพี่น้องกัน เป็นโอรสของพระกัศยป แต่ต่างมารดา โดยเหตุที่บาดหมางกันจนเป็นศึกสายเลือดเพราะนางวินตาแม่พญาครุฑริษยานางกัทรุ ขอพรต่อพระกัศยปให้ลูกของตนกินพวกนาคซึ่งเป็นลูกของนางกัทรุ พระกัศยปก็หลับหูหลับตาให้พรตามที่ขอ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นลูกของตนทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนั้นครุฑก็เลยกินนาคเป็นอาหาร ล้างผลาญกันเอง

ภาพจาก: komkid

นาคกลืนก้อนหินเพื่อป้องกันตัวจากครุฑ

มีหลักฐานกล่าวไว้ในเรื่องภูริทัตชาดก ตอนหนึ่งว่า ‘เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้ว ก็จิกด้วยจะงอยปากฉีกท้องนาคกินมันเหลว แล้วทิ้งร่างลงไปในท้องมหาสมุทร’  คือหมายถึงว่าครุฑไม่ได้กลืนกินนาคทั้งตัวแต่เลือกกินเฉพาะมันเหลว

นอกจากนี้ในหนังสือ“สัตว์หิมพานต์” ของ ส.พลายน้อย ยังบอกอีกว่า ครุฑจับเฉพาะนาคที่ตัวเล็ก หรือที่มีขนาดพอที่จะจับลากขึ้นมาจากน้ำได้เพื่อบินขึ้นสู่อากาศได้อย่างรวดเร็ว พวกนาคเมื่อเห็นดังนั้นจึงหาวิธีป้องกันตัว ด้วยการกลืนก้อนหินเข้าไปไว้ในท้องเพื่อทำตัวให้หนัก ความหนักของก้อนหินถ่วงตัวนาคไว้ กว่าครุฑจะหิ้วนาคขึ้นไปได้ก็ถูกคลื่นซัดจมน้ำตายเสียมากเหมือนกัน

พวกครุฑเปลี่ยนแผนจับนาค

พวกครุฑได้ประชุมคิดแก้ปัญหานี้อยู่นาน ในที่สุดไปได้อาจารย์ดีซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกนาค ครุฑได้อ้อนวอนให้อาจารย์ไปลวงถามความลับจากพวกนาค ตอนแรกพวกนาคไม่ยอมบอก อาจารย์ได้ไปเซ้าซี้ถามและรับปากว่าจะไม่บอกใคร นาคจึงยอมบอกความลับให้

อาจารย์ทุศีลนำความลับไปบอกครุฑ พวกครุฑก็เลยเปลี่ยนแผนกระพือปีกให้น้ำแตกเป็นช่องแล้วก็จู่โจมลงไปจับหางนาค ปล่อยให้หัวนาคห้อยลงมา นาคจึงสำรอกอาหารและหินออกหมด ครุฑจึงจับนาคได้โดยสะดวก

ภาพจาก: en.wikipedia

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขียนภาพครุฑจับนาคหรือแกะสลักรูปครุฑ ตามหน้าบันโบสถ์วิหาร จึงให้ครุฑจับหางนาคปล่อยหัวนาคอยู่ข้างล่าง อันเป็นวิธีจับนาคที่ถูกวิธีและเป็นแบบอย่างของการเขียน หรือแกะสลักรูปครุฑจับนาคที่ถูกต้องต่อมา”

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.silpa-mag.com, หนังสือ “สัตว์หิมพานต์” ของ ส.พลายน้อย

บทความแนะนำ