น้ำศักดิ์สิทธิ์ ประวัติศาสตร์ พระราชพิธี พิธีบรมราชาภิเษก แหล่งตักน้ำศักดิ์สิทธิ์

แหล่งตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในการทำน้ำอภิเษก สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

Home / สาระความรู้ / แหล่งตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในการทำน้ำอภิเษก สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละรัชกาลนั้น จะต้องมีการทำน้ำอภิเษกขึ้นมา โดยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1  จนถึงปัจจุบัน ไปย้อนอ่านเกร็ดความรู้ในแต่ละรัชกาลจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับการทำน้ำอภิเษกกันค่ะว่าแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ไหนบ้างในประเทศไทย

การทำน้ำอภิเษก แหล่งตักน้ำศักดิ์สิทธิ์

สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 – 4

ใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่าง ๆ รวม 6 แห่ง ได้แก่ น้ำในสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

อีก 5 แห่งใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศ 5 สาย ซึ่งเรียกว่า “เบญจสุทธิคงคา” คือ แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ ต.ท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี, แม่น้ำราชบุรี ตักจาก ต.ดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม, แม่น้ำเจ้าพระยา ตักจาก ต.บางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำป่าสัก ตักจาก ต.ท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี และ แม่น้ำบางปะกง ตักจากบึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก

การทำน้ำอภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5

ในปี พ.ศ. 2411  เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ. 2411 นั้นใช้น้ำเบญจสุทธิคงคา และน้ำในสระ 4 สระ เมืองสุพรรณบุรี เป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับเคยใช้ในรัชกาลก่อน ๆ

ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2415 ทรงได้นำน้ำ “ปัญจมหานที” ที่มีการบันทึกในตำราของพราหมณ์ กลับมายังประเทศสยามด้วย และในปี พ.ศ. 2416 เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 น้ำสรงมุรธาภิเษก จึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระทั้ง 4 ของเมืองสุพรรณบุรีด้วย

(ภาพประกอบ เป็นภาพในวันที่ 6 เมษายน 2562)

การทำน้ำอภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 6-7

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2453 ทรงใช้น้ำมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในปี พ.ศ. 2454

นอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานที และน้ำทั้ง 4 สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่น ๆ และแม่น้ำตามมณฑลต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งทำพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักพระมหานครโบราณ 7 แห่ง ได้แก่

1.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ ทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสระบุรี)

2.น้ำที่ทะเลแก้วและสระแก้ว เมืองพิษณุโลก และน้ำจากสระสองห้อง ทำพิธีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ

3.น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังไพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ทำพิธีในวิหารวัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย)

4.น้ำในแม่น้ำนครชัยศรี ที่ตำบลบางแก้ว น้ำกลางหาว บนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ ทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

5.น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช

6.น้ำที่บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญชัย

7.น้ำที่บ่อวัดพระธาตุพนม ตั้งทำพิธีที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

และยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ อีก 10 มณฑล รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษก 17 แห่ง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่สถานที่เดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีก 1 แห่งที่พระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด รวมเป็น 18 แห่ง

(ภาพประกอบ เป็นภาพในวันที่ 6 เมษายน 2562)

การทำน้ำอภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9

นำน้ำมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่นเดียวกับในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่มีการเปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาตักน้ำบ่อแก้ว และทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน สรุปแล้ว น้ำที่ใช้ในการทำน้ำอภิเษกในรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย

1.น้ำจากปัญจมหานที ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู (ในประเทศอินเดีย)

2.น้ำจากเบญจสุทธคงคา ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง

3.น้ำจากสระ 4 สระเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

4. น้ำจากมณฑลต่าง ๆ ได้แก่ น้ำที่ทะเลแก้ว สระแก้ว สระสองห้อง เมืองพิษณุโลก, น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังไพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง จังหวัดสุโขทัย, น้ำในแม่น้ำนครชัยศรี น้ำกลางหาว บนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ จังหวัดนครปฐม, น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช จังหวัดนครศรีธรรมราช, น้ำบ่อแก้ว จังหวัดน่าน, น้ำบ่อทิพย์ จังหวัดลำพูน, น้ำบ่อวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พระพุทธเจดีย์สำคัญ 18 แห่ง

และยังมีพระพุทธเจดีย์สำคัญ 18 แห่ง ที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย

1.จังหวัดสระบุรี ตั้งที่พระพุทธบาท

2.จังหวัดพิษณุโลก ตั้งที่วัดพระศรีมหาธาตุ

3.จังหวัดสุโขทัย ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ

4.จังหวัดนครปฐม ตั้งที่พระปฐมเจดีย์

5.จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ

6.จังหวัดลำพูน ตั้งที่พระธาตุหริภุญชัย

7.จังหวัดนครพนม ตั้งที่พระธาตุพนม

8.จังหวัดน่าน ตั้งที่พระธาตุแช่แห้ง

9.จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งที่บึงพระลานชัย

10.จังหวัดเพชรบุรี ตั้งที่วัดมหาธาตุ

11.จังหวัดชัยนาท ตั้งที่วัดพระบรมธาตุ

12.จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งที่วัดโสธร

13.จังหวัดนครราชสีมา ตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราช

14.จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งที่วัดศรีทอง

15.จังหวัดจันทบุรี ตั้งที่วัดพลับ

16.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งที่วัดพระมหาธาตุอำเภอไชยา

17.จังหวัดปัตตานี ตั้งที่วัดตานีนรสโมสร

18.จังหวัดภูเก็ต ตั้งที่วัดทอง

โดยแต่ละจังหวัดประกอบพิธีระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม พ.ศ. 2493 มีราชบุรุษไปพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำเข้ามาในมณฑลพิธี ประธานสงฆ์ ประกาศเทวดา จุดเทียนชัย พระสงฆ์ 30 รูปเจริญพระพุทธมนต์แล้วผลัดเปลี่ยนกันสวดภาณวาร และเมื่อตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชแล้วจัดส่งเชิญมายังกรุงเทพฯ ก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยอัญเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันงานจึงอัญเชิญเข้าพิธีสวดพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ต่อไป

(ภาพประกอบ เป็นภาพในวันที่ 6 เมษายน 2562)

การทำน้ำอภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 10

ตามการให้ข่าวของ ดร.วิษณุ เครืองาม หัวหน้าคณะทำงานการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บอกว่า จะนำน้ำมาจากแหล่งเดียวกันกับที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 และอาจจะย้อนไปถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 7 ด้วย

** รัชกาลที่ 8 ไม่ปรากฎข้อมูล

ที่มาจาก: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม:Chantharakasem National Museumprachachat

ภาพจาก: unsplash, unsplash

บทความแนะนำ