บิ๊ก ศรุต บุคคลทางประวัติศาสตร์ บุพเพสันนิวาส ประวัติศาสตร์ไทย พระมหากษัตริย์ไทย พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์

สมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์ผู้ทรงปฏิรูปการปกครองขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

Home / สาระความรู้ / สมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์ผู้ทรงปฏิรูปการปกครองขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เรียกได้ว่าตอนนี้ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสก็ได้เดินทางมาถึงตอนสำคัญกันแล้ว ซึ่งเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นในละครเรื่องนี้ก็ได้อิงมาจากประวัติศาสตร์ของไทย โดยได้มีตัวละครสำคัญออกมาเรื่อยๆ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีตัวละครสำคัญและมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ออกมาแล้วอีกหนึ่งตัวละครคือ หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ในฉากแข่งเรือ

สมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์ไทยองค์ที่ 28

และอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่เราได้จะเห็นกันต่อมาก็คือ พระเพทราชา หรือออกพระเพทราชา เจ้ากรมคชบาล พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 28 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งรับบทโดย บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์ ว่าแต่ตัวละครนี้จะมีความสำคัญอย่างไรต่อกรุงศรีอยุธยา และมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับหลวงสรศักดิ์ ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยนี้กันค่ะ

พระราชประวัติ สมเด็จพระเพทราชา

พระเพทราชา หรือ สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมมีชื่อสามัญชนว่า “ทองคำ” เป็นชาวพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2175 (แต่บางแห่งว่า พ.ศ. 2170) จุลศักราช 994 จัตวาศกปีเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และทรงเป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระนมเอก คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของโกษาเหล็กและโกษาปาน) และมีพระขนิษฐาคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมมีชื่อสามัญชนว่า "ทองคำ"
สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมมีชื่อสามัญชนว่า “ทองคำ”

ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชามีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้าง โดยพระองค์มีความชำนาญในด้านศิลปศาสตร์กับบังัคบช้างและมีฝีมือในการทำสงคราม และยังเคยได้รับความชอบจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายคครั้ง มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเพทราชาหรือจางวางกรมช้างในขณะนั้นได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย

การศึกในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีได้เมืองเชียงใหม่ และได้มีสัมพันธ์กับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งจนตั้งครรภ์ แต่พระองค์ทรงคิดละอายที่จะรับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ไว้เป็นพระสนม เนื่องจากในเวลานั้นยังถือว่าเมืองเชียงใหม่เป็นพวกเดียวกับเมืองลาวและยังเป็นที่ดูถูกว่าต่ำต้อยจึงทรงยกนางนั้นให้กับจางวางกรมช้าง (พระเพทราชา) เมื่อเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองพิษณุโลก ตำบลโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตรในปัจจุบัน ราชธิดาองค์นั้นได้คลอดบุตรออกมาเป็นเพศชายตั้งชื่อให้ว่า “เดื่อ” ซึ่งก็คือ หลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ นั่นเอง และในเวลาต่อมาก็ได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมคชบาล มีกำลังพลในสังกัดหลายพัน

ชาวต่างชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีฝรั่งต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก หนึ่งในชาวต่างชาติที่คนไทยรู้จักดีก็คือชาวกรีกผู้ภักดีต่อฝรั่งเศสที่ชื่อ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน หรือ เยการี) สามีของ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์ เดอ ปีนา) ลูกผสมญี่ปุ่น-โปรตุเกส ต้นตำรับขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหม้อแกงของไทย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสามารถและได้ทำประโยชน์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน หรือ เยการี) และท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์ เดอ ปีนา)
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน หรือ เยการี) และท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์ เดอ ปีนา)

ประวัติ : ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) บุพเพสันนิวาส “ราชินีแห่งขนมไทย”

แต่ด้วยการกระทำหลายๆ อย่างของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเสนาบดีกลาโหม (สมเด็จพระเพทราชาได้รับตำแหน่งนี้ต่อจากโกษาเหล็ก) และหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก เนื่องจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์พยายามจะโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งคริสเตียนชาวกรีกผู้นี้ได้กระทำการหมิ่นน้ำใจชาวพุทธหลายครั้ง เช่น จัดการสึกภิกษุสามเณรให้ลาสิกขาออกมารับราชการโดยไม่สมัครใจ เป็นต้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ทรงโอนอ่อนตามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในหลายเรื่อง ทำให้พุทธศาสนิกชนอย่างเสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์รู้สึกโกรธเคืองในตัวชาวกรีกผู้นี้ยิ่งนัก

อีกทั้งมีความระแวงว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะนำทหารฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในเวลานั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรอย่างหนัก เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้ประหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รวมทั้งผู้อยู่ในข่ายที่จะได้สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็คือ เจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย (พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) และพระปีย์ (พระโอรสบุญธรรม) เสียก่อน เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบอาการประชวรก็ทรงทรุดหนักมากยิ่งขึ้นและสวรรคตในเวลาต่อมา

การขึ้นครองราชสมบัติของ สมเด็จพระเพทราชา

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต เสนาบดีกลาโหมจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเพทราชา ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ไม่นับรัชกาลขุนวรวงษาธิราช) ส่วนหลวงสรศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร และเมื่อจัดการบ้านเมืองสงบแล้วจึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แล้วรับราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

หลวงสรศักดิ์ หรือ สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร : รับบทโดย ก๊อต-จิรายุ
หลวงสรศักดิ์ หรือ สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร : รับบทโดย ก๊อต-จิรายุ

ประวัติ : ก๊อต-จิรายุ ผู้ที่มารับบท หลวงสรศักดิ์ | เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ หลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ

สมเด็จพระเพทราชาทรงขึ้นครองราชเมื่อปี พ.ศ.2231 จุลศักราช 1050 ขณะพระชนมายุ 51 พรรษา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” และได้ทรงแต่งตั้งคุณหญิงกันเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา (พระมเหสีเดิมในพระเพทราชา เป็นผู้อภิบาลพระเจ้าเสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังได้ขึ้นเป็นที่ กรมพระเทพามาตย์ ในสมัยของพระเจ้าเสือ)

แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ (กรมหลวงโยธาทิพ) ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนนีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เป็นพระมเหสีฝ่ายขวา ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ “เจ้าพระขวัญ”, แต่งตั้งเจ้าฟ้าทอง หรือ เจ้าฟ้าสุดาวดี (กรมหลวงโยธาเทพ) พระราชธิดาองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ “ตรัสน้อย”, แต่งตั้งนางนิ่มเป็นพระสนมเอก และนอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐาของพระองค์เป็น กรมขุนเสนาบริรักษ์ อีกด้วย

สมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ (กรมหลวงโยธาทิพ)
สมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ (กรมหลวงโยธาทิพ) พระมเหสีฝ่ายขวา : รับบทโดย เจน-เจนจิรา

ประวัติ : เปิดวาร์ป เจน-เจนจิรา สตรีสูงศักดิ์บนเรือ จากละครบุพเพสันนิวาส

การปกครองบ้านเมืองในสมัย สมเด็จพระเพทราชา

เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายไทยเป็นผู้จัดเรือกับต้องส่งคืนทรัพย์สินที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทยที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา

และนอกจากนี้ในสมัยของพระองค์ยังได้เกิดกบฎขึ้นหลายครั้ง อีกทั้งเกิดปัญหาหัวเมืองใหญ่อย่างเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์ เนื่องจากมองว่าพระองค์เป็นผู้แย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในเวลานั้นชาวฝรั่งเศส นักสอนศาสนาคริสต์ และชาวต่างชาติบางกลุ่มถูกเนรเทศให้กลับประเทศ ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงเป็นอันมาก

สมเด็จพระเพทราชา : รับบทโดย บิ๊ก-ศรุต
สมเด็จพระเพทราชา : รับบทโดย บิ๊ก-ศรุต

ซึ่งทั้งนี้พระองค์ยังได้ทำการปฏิรูปการปกครองขึ้นมาใหม่ โดยได้กำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม และยังได้แบ่งให้แต่ละฝ่ายดูแลรับผิดชอบกิจการต่างๆ ทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้นๆ นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนงานทางด้านต่างประเทศ มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยากล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2238 กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพไทยไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน

การสวรรคตของสมเด็จพระเพทราชา

สมเด็จพระเพทราชาทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาถึง 15 ปี (สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา) ก่อนที่จะทรงพระประชวรอย่างหนัก ระหว่างที่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่นั้นได้เกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติขึ้น ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์คือ เจ้าพระขวัญและตรัสน้อย พระราชโอรสแท้ๆ ของพระองค์ แต่เจ้าพระขวัญถูกกรมพระราชวังบวร (พระเจ้าเสือ) ลอบประหาร ตรัสน้อยทรงหนีไปบวชพระ

เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบก็ทรงรีบตั้งพระราชนัดดาคือ “เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์” ให้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ แต่เมื่อพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2246 เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ไม่กล้าปราบดาภิเษกขึ้นครองราชด้วยเกรงบารมีของกรมพระราชวังบวรและได้ขอให้กรมพระราชวังบวรขึ้นครองราชแทน กรมพระราชวังบวรจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา

ขุ่นพี่หมื่นโดนเม้าท์ บ่าวไพร่โดนแซะ แม่นายเบลล่า จัดหนักจัดเต็ม!!

บทความที่น่าสนใจ

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : sites.google.com, IG : @godfather1632, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,
ภาพท้าวทองกีบม้า จากปกนิยายแต่งโดยคึกเดช กันตามระ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย