พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชพิธี พิธีบรมราชาภิเษก เกร็ดน่ารู้ ในหลวงรัชกาลที่ 10

เกร็ดน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 – งานมหามงคลของชาติ

Home / สาระความรู้ / เกร็ดน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 – งานมหามงคลของชาติ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีฯ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากและถูกสืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 9 มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว 11 ครั้งด้วยกัน และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ถือได้ว่าเป็นครั้งที่ 12 ของไทย ที่จัดขึ้นในรอบ 69 ปี

12 เรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10

โดยงานพระราชพิธีฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ และมีพระนามเต็มว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และพระบรมราชินี มีพระนามเต็มว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

ซึ่งในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็ได้รวบรวมเกร็ดน่ารู้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา มาฝากกันด้วยค่ะ จะมีเรื่องอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

1. พระราชพิธีฯ ครั้งแรกในรอบ 69 ปี

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ถือได้ว่าเป็นงานพระราชพิธีฯ ที่จัดขึ้นในรอบ 69 ปี หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

2. ตำราราชาภิเษกที่เก่าที่สุดของไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่เดิมนั้นมีแบบแผนรายละเอียดไม่ปรากฎแน่ชัด ซึ่งแบบแผนงานพระราชพิธีฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีการยึดถือตาม “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” ทั้งนี้ รัชกาลที่ 1 โปรดให้ผู้รู้เรียบเรียงขึ้น ซึ่งนับเป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (เท่าที่สามารถค้นพบหลักฐานในไทย) แต่ขั้นตอนและรายละเอียดของพระราชพิธีฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามแต่ละรัชกาล

12 เรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 

3. น้ำศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่สำคัญในงานพระราชพิธีฯ

สำหรับขั้นตอนแรกที่สำคัญในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) ถือเป็นการเปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์ และพิธีรับน้ำอภิเษก (การรดน้ำที่พระหัตถ์) ซึ่งแต่เดิมราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก

แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนสมาชิกรัฐสภาประจำทิศทั้งแปด โดยแบ่งออกเป็น

– น้ำมุรธาภิเษก มาจากสระน้ำ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำสำคัญทั้ง 5 สาย หรือ “เบญจสุทธคงคา” คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี

– น้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง 1 แหล่งน้ำ

4. พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร คือ ฉัตร 9 ชั้นหุ้มผ้าขาว เป็นเครื่องแสดงพระบรมราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว และถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ใช้ปักหรือแขวนเหนือพระราชอาสน์พระราชบัลลังก์ ตามธรรมเนียมแต่โบราณ หากยังไม่เปลี่ยนรัชกาลจะไม่ลดพระมหาเศวตฉัตรลงเด็ดขาด

พระที่นั่งอัมพรสถาน สถานที่พระราชสมภพ รัชกาลที่ 10

Link : seeme.me/ch/pacificinspiration/MgB4B9

5. พระมหาพิชัยมงกุฎ

พระมหาพิชัยมงกุฎ ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มีน้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์) ที่ถวายแก่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก

ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมาแล้วจะทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมานิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่าภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่การสวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์จึงทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม

6. ยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัย

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการใช้ปืนใหญ่ขนาดเล็กยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยเพื่อความเป็นสิริมงคล ทำการยิงโดย “กองแก้วจินดา” หน่วยทหารโบราณในสังกัดทหารปืนใหญ่ ปืนที่ใช้ยิงสลุตมี 4 กระบอก คือ ปืนมหาฤกษ์ ปืนมหาชัย ปืนมหาจักร และปืนมหาปราบยุค

โดยในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ยิงสลุต 10 นัด ขณะสรงน้ำมุรธาภิเษก และขณะทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์และพระแสง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

Link : seeme.me/ch/goodmorningthailand/MX1x1Y

7. เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร

ในพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เปรียบเสมือน “การขึ้นบ้านใหม่” โดยมีการเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรตามเสด็จ ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง

และในเวลาต่อมาสิ่งของสำหรับพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรก็มีการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละรัชกาล เช่น รัชกาลที่ 4 เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือก, รัชกาลที่ 7 มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี เป็นต้น จากนั้นพระมหากษัตริย์จะบรรทมเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ ซึ่งเป็นพระแท่นบรรทมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเพื่อเป็นมงคลฤกษ์

8. พระปฐมบรมราชโองการ

พระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสื่งที่เหล่าพสกนิกรเฝ้ารอฟังและจะได้รับการบันทึกไว้อีกยาวนาน โดยพระปฐมบรมราชโองการนั้นมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9

ซึ่งหลังจากที่ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์และพระแสง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการมีเนื้อความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

12 เรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 

9. สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ 10 พระองค์

โดยในงานพระราชพิธีฯ วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ รวม 10 พระองค สำหรับพระบรมวงศ์ที่ได้รับสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ ประกอบด้วย

– พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ออกพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
– สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ออกพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
– สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”
– สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน ขัตติยราชนารี”
– พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี”
– พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”
– พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร”
– พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ออกพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ”
– พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ออกพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์”
– พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ออกพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ”

12 เรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 

10. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราเพื่อให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยประทับพระราชยานพุดตานทองเสด็จฯ จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ เพื่อนมัสการพระประธานและพระบรมราชสรีรางคาร

– วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อครั้งที่ทรงผนวชหลายพระองค์ คือ รัชกาลที่ 4, 5, 6, 7, 9 และรัชกาลที่ 10
– วัดพระเชตุพนฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 1
– วัดราชบพิธฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 นอกจากนี้ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันอีกด้วย

12 เรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 

11. การเสด็จออกสีหบัญชร

หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นลง ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.30 น. พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท คือหน้าต่างของพระที่นั่งที่มีลักษณะเป็นระเบียงยื่นออกไป เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

12. ไก่และแมว ในงานพระราชพิธีฯ

โดยในงานพิธีเฉลิมราชมณเฑียร เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เหมือนการทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ โดยมีการเชิญเครื่องราชูปโภคและสิ่งมงคล รวมถึงสัตว์อย่างวิฬาร์หรือแมวไทย พันธุ์วิเชียรมาศ และไก่ขาว เข้าพิธีด้วย

ซึ่งแมวถือได้ว่าเป็นสัตว์นำโชค ความร่มเย็นเป็นสุข เชื่อว่าสามารถชับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายได้ เพราะสามารถมองเห็นได้ในตอนเวลากลางคืน และยังมีความเชื่อที่ว่าแมวมี 9 ชีวิต สื่อถึงความยั่งยืนสถาพรและเป็นอมตะ ส่วนไก่ขาวนั้นถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงสารพัดประโยชน์ ทั้งสามารถบอกเวลาและออกไข่ได้ นอกจากนี้ความเชื่อของชาวจีนยังถือว่า ไก่ขาวสามารถช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ อีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก : www.bbc.com, https://thematter.co/, https://phralan.in.th/

บทความที่เกี่ยวข้อง