เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้นก็จะถึงวันสำคัญของประชาชนชาวไทยกันแล้วนั่นก็คือ วันเลือกตั้ง วันที่เราทุกคนจะต้องออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตัวแทนที่เราต้องการเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ได้ประกาศนโยบายต่าง ๆ ออกมากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะมีผลอย่างไร?
แต่ถ้าหากในวันนั้นเรานอนหลับทับสิทธิ์ไม่ออกไปใช้เสียงในการเลือกตั้ง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีผลเสียหรือไม่นั้น ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนไปหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้กันค่ะ ตามมาดูกันได้เลย…
ไม่ออกเสียง เสียสิทธิทางการเมือง
หากเราไม่ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง จะต้องเสียสิทธิทางการเมือง ดังต่อไปนี้
1. จะเสียสิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
2. จะไม่มีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
3. ไม่มีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกเป็น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน (ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่)
4. ไม่มีสิทธิในการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง และข้าราชการรับสภาฝ่ายการเมือง
5. ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น, เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น, ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร, ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น, ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
สิทธิทางการเมืองจะกลับมาตอนไหน?
สำหรับการจำกัดสิทธิทางการเมืองทั้ง 5 ข้อที่เราได้กล่าวมานั้น มีกำหนดระยะเวลา 2 ปีด้วยกันนับตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่เราไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้ โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่แทน
- ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ของไทย | ขั้นตอนการเลือกตั้ง + Primary Vote คืออะไร?
- 11 ข้อห้าม ที่เราไม่ควรทำในวันเลือกตั้ง – ฝ่าฝืนระวังโทษทั้งจำทั้งปรับ
มีเหตุไปเลือกตั้งไม่ได้ต้องแจ้งใคร?
ทั้งนี้ หากเรามีความจำเป็นที่ไม่สามารถเดินทางไปเลือกตั้งได้ เพราะมีธุรกิจจำเป็นจริง ๆ ต้องทำการแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เราเสียสิทธิไปฟรี ๆ และจะได้ไม่ส่งผลต่อการใช้สิทธิทางการเมืองอื่น ๆ อีกด้วย
และนี่ก็คือเหตุที่ทำให้เราไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุไว้ มีรายละเอียดน่ารู้ดังต่อไปนี้
1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2. เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ไม่สามารถออกไปใช้สิทธิได้
3. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือเดินทางไปต่างประเทศ
4. อาศัยอยู่ห่างจากจุดลงคะแนนเลือกตั้ง เกินกว่า 100 กิโลเมตร
5. มีเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ กกต. ได้มีการกำหนดเอาไว้
วิธีการแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้…
สำหรับวิธีการแจ้งเหตุที่ไม่ได้สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้ เราควรแจ้งก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จนถึงหลังวันเลือกตั้งไม่เกิน 7 วัน โดยมีขั้นตอนน่ารู้ ดังนี้
1. ทำการกรอกแบบฟอร์มหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ (ส.ส. 28) โดยระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านอย่างชัดเจน และตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่ง
2. ให้แนบหลักฐานเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
3. นำเอกสารทั้งหมดมายื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ได้ 3 วิธีการด้วยกัน ได้แก่
– ยื่นด้วยตนเอง
– มอบหมายบุคคลอื่นไปยื่นแทน
– ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
กำหนดเวลาในการลงคะแนนเสียง
กฎหมายได้มีการขยายเวลาในการเดินทางไปลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกคน โดยเรามีเวลาทั้งสิ้น 9 ชั่วโมงด้วยกันในการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาในการลงคะแนนเลือกตั้งจะมีการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง
เลือกตั้งครั้งเดียวได้ 3 อย่าง
การเลือกตั้งในครั้งนี้เราจะได้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว กาได้เบอร์เดียว แต่คะแนนจะถูกนับในระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนของพรรค เพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อีกด้วย และพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน จะมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีพรรค ให้รัฐสภาลงมติแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้
อ้างอิงข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, http://tonkit360.com, https://thestandard.co