การเลือกตั้ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ศุภชัย โพธิ์สุ สภาผู้แทนราษฎร สุชาติ ตันเจริญ

เปิดประวัติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภา 2562

Home / สาระความรู้ / เปิดประวัติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภา 2562

ผลโหวต ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาคนที่ 1 และรองประธานสภาคนที่ 2 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย (ในตอนนี้กำลังรอการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ) แคมปัส-สตาร์ ขอสรุปมาให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้อัปเดตกันค่ะ มาดูประวัติของทุกคนที่ได้ตำแหน่งนี้กันว่าเขาเคยมีผลงานอะไรมาบ้าง

ทำความรู้จัก ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภา

ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนล่าสุดคือ นายชวน หลีกภัย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ขณะนี้กำลังรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

ประวัติ ชวน หลีกภัย

ชวน หลีกภัย เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ที่ตำบลท้ายพรุ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลทับเที่ยง) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คน ของคุณนิยม กับถ้วน หลีกภัย เมื่อยังเด็ก ชวนมีชื่อเรียกในครอบครัวว่า “เอียด” หมายถึง เล็ก เนื่องจากเป็นคนรูปร่างเล็ก

ชวน หลีกภัย และ ปลื้ม สุรบถ (ลูกชาย)

ชวน มีบุตรชายกับภักดิพร สุจริตกุล หนึ่งคน คือ สุรบถ หลีกภัย หรือที่ทุกคนรู้จักกันในฉายา ปลื้ม VRZO

IG: pleum_official ขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อ ที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรครับ เชื่อว่า50ปีบนเส้นทางการเมืองจะทำให้คุณพ่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนี้ได้อย่างเต็มที่ครับ

การศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์

– ประถมศึกษา โรงเรียนวัดควนวิเศษ จังหวัดตรัง
– มัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ และโรงเรียนตรังวิทยา
– สำเร็จการศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ ในปัจจุบัน)
– พ.ศ. 2505 นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– พ.ศ. 2507 เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 17
– พ.ศ. 2528 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– พ.ศ. 2530 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
– พ.ศ. 2536 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์
– พ.ศ. 2537 ดุษฎีบัณฑิต สาขาวรรณกรรม (ภาพเขียน) มหาวิทยาลัยศิลปากร
– พ.ศ. 2541 นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
– พ.ศ. 2542 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัย San Marcos สาธารณรัฐเปรู
– พ.ศ. 2548 รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– พ.ศ. 2552 นิติศาสตร์คุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– พ.ศ. 2557 นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประวัติการทำงานเริ่มจากทนายความสู่นักการเมือง

– ชวน หลีกภัยเริ่มทำงานเป็นทนายความ ต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ใน พ.ศ. 2534

– เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ใน พ.ศ. 2533 ชวน หลีกภัยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

– ใน พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1 และวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 สมัยที่ 2 ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ชวนเป็นพลเรือนคนที่สอง นับจากหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้

– ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมกับรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คน คือ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และสุรินทร์ มาศดิตถ์

สรุปประวัติทางการเมือง

– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยแรก) พ.ศ. 2512
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สอง) พ.ศ. 2518
– รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2518
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สาม) พ.ศ. 2519
– รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2519
– รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2519[3][4]
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สี่) พ.ศ. 2522
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2523[5]
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2524
– รัฐมนตรว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2525 – 2526
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ห้า) พ.ศ. 2526
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่หก) พ.ศ. 2529
– ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529 – 2531
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เจ็ด) พ.ศ. 2531
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2531 – 2532
– รองนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2532 – 26 ส.ค. 2533
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2533 (ส.ค.- ธ.ค. พ.ศ. 2533)
– หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (26 ม.ค.2534 – 4 พ.ค. พ.ศ. 2546)
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่แปด) พ.ศ. 2535 (22 มี.ค. พ.ศ. 2535)
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เก้า) พ.ศ. 2535 (13 ก.ย. พ.ศ. 2535)
– นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 (23 ก.ย. พ.ศ. 2535 – 20 ก.ค. พ.ศ. 2538)
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบ) พ.ศ. 2538 (2 ก.ค. พ.ศ. 2538)
– ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538 (4 ส.ค. พ.ศ. 2538)
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบเอ็ด) พ.ศ. 2539 (17 พ.ย. พ.ศ. 2539)
– ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539 (21 ธ.ค. พ.ศ. 2539)
– นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540 (9 พ.ย. พ.ศ. 2540 – 8 ก.พ. พ.ศ. 2544)
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2540 (14 พ.ย. พ.ศ. 2540-18 ก.พ. พ.ศ. 2544)
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบสอง) พ.ศ. 2544 (6 ม.ค. พ.ศ. 2544)
– ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 (11 มี.ค. พ.ศ. 2544)
– ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2546 – ปัจจุบัน)
– ประธานสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

การดำรงตำแหน่งอื่น ๆ

– อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
– กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– กรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
– กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– อาจารย์พิเศษแผนกนิติเวช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รางวัลและเกียรติยศ

– เครื่องหมายกิตติมศักดิ์ราชนาวิกสภาและประกาศนียบัตรของกองทัพเรือ จากการสนับสนุนการศึกษาของกองทัพเรือ นับเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรก ที่ได้รับเครื่องหมายนี้ โดยนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับคือ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
– วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ชวน หลีกภัย ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เป็น นายกองใหญ่ ชวน หลีกภัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าแต่งตั้ง ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าของผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
– วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561 ชวน หลีกภัย เข้ารับรางวัล เกียรติภูมินิติโดม ในฐานะ ศิษย์เก่าดีเด่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1

ผลการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 – วันที่ 25 พ.ค. ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีมติเลือกนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส. ฉะเชิงเทรา จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 248 เสียง ต่อ 247 เสียง เอาชนะ น.ส. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ไปอย่างฉิวเฉียด

ประวัติ สุชาติ ตันเจริญ

เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เป็นบุตรชายของนายวิเชียร และนางสุภา ตันเจริญ อีกทั้งเป็นน้องชายของนายพิเชษฐ์ ตันเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีศักดิ์เป็นอาของนายณัชพล ตันเจริญ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีบุตรชาย 2 คน คือ นายคชาภา ตันเจริญ (มดดำ) ดารานักแสดง ดีเจ และ พิธีกรชื่อดัง และนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ (มดเล็ก) และใช้ชีวิตคู่นอกสมรสกับ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

25 มีนาคม 2562 มดดำเคยโพสต์อินสตาแกรมว่า “แม้เราไม่ได้เชียร์พ่อเลย เพราะความคิดทางการเมืองของเรากับพ่อและน้อง ไม่ตรงกัน ครอบครัวเราเป็นอิสระทางความคิดค่ะ ไม่ได้ไปช่วยพ่อเลย แต่วันนี้หลังเลือกตั้ง ในฐานะลูกของพ่อ ขอกราบขอบพระคุณทุกคะแนนเสียง ที่พ่อแม่พี่น้องชาวฉะเชิงเทรา ที่เทคะแนนให้พ่อ พ่อสัญญาว่าพ่อจะทำให้ทุกคะแนนที่ท่านให้เรามา ให้มีค่ามากที่สุดและดีที่สุด เท่าที่พ่อและน้องชายจะทำได้ พวกเราเป็นหนี้พระคุณทุกคะแนนเสียงนะคะ ที่ไว้ใจพ่อและน้องชาย ขอกราบจากใจแทนพ่อและน้องชายค่ะ”

ประวัติการศึกษา

– สุชาติ ตันเจริญ จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร

– สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ จาก Notre Dame de Namur University ประเทศสหรัฐอเมริกา

เส้นทางการทำงาน

– เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา 9 สมัย

– เคยสังกัดพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสามัคคีธรรม พรรคไท พรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย

– เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2538 เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2548

– เคยลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคไท ในปี พ.ศ. 2539 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรค

– นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคการเมืองถึง 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคไทยรักไทย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 จึงได้นำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมน้ำ ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และในปี พ.ศ. 2553 ได้ย้ายไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย จากนั้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายสุชาติได้นำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมน้ำของตนเองกว่า 40 คนมาสมัครสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ

– นายสุชาติ ได้รับฉายาว่า “ตี๋กร่าง” จากการทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในแบบที่ไม่ยอมใครง่าย ๆ

– ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกสุชาติให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 เป็นสมัยที่ 2 โดยเฉือนเอาชนะนางสาวเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไปเพียง 2 เสียงด้วยคะแนนเสียง 248-246 เสียง

รางวัลและเกียรติยศ

– พ.ศ. 2539 ว่าที่นายกองเอก สุชาติ ตันเจริญ ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนเป็น นายกองเอก สุชาติ ตันเจริญ

ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส. นครพนม จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 256 เสียง ต่อ 239 เสียง ชนะคู่แข่ง นพ. ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากพรรคเสรีรวมไทย

ภาพ: radioparliament

ประวัติ ศุภชัย โพธิ์สุ

นายศุภชัย โพธิ์สุ มีชื่อเล่นว่า “แก้ว” หรือ ครูแก้ว  เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ที่จังหวัดนครพนม

ประวัติการศึกษา

– สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครู จากวิทยาลัยครูสกลนคร ระดับปริญญาตรีสาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

– หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายศุภชัยได้หลบหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ป่าภูพาน มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายแสง” รับหน้าที่ปลุกระดมมวลชนแถบอำเภอเรณูนคร และอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เมื่อออกจากป่าได้เข้าเรียนต่อครูจนจบ และรับราชการครูที่อำเภอศรีสงคราม ก่อนจะลาออกมาทำงานการเมืองจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นมาจากการที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) มาก่อน

ภาพ: New18

ประวัติการทำงาน

– เป็นแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ให้การสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นสภาพไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551

–  ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ภายหลังจากที่พรรคภูมิใจไทยมีมติให้นายชาติชาย พุคยาภรณ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งแทน แต่ผลงานการทำงานของนายศุภชัย โพธิ์สุ กลับไม่ได้มีความโดดเด่นเท่าที่ควร จนเป็นที่มาของการได้รับฉายาจากพรรคเพื่อไทย เป็น 1 ใน 10 รัฐมนตรีไร้ผลงาน ว่า “รัฐมนตรีได้ครับพี่ ดีครับท่าน ทันครับผม เหมาะสมครับนาย”

– ในปี พ.ศ. 2553 สำนักวิจัยเอแบคโพล ได้สำรวจความคิดเห็นพบว่าประชาชนร้อยละ 36.9 ไม่รู้จักรัฐมนตรีศุภชัย โพธิ์สุ ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายศุภชัยถูกร้องว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือผู้สมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2552 แต่ในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง

– ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายศุภชัยลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม แต่แพ้ให้กับนายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ จากพรรคเพื่อไทย

– ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกศุภชัยให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 โดยเอาชนะนายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ด้วยคะแนนเสียง 256-239 เสียง

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

ประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ ถือเป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และเป็นผู้นำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

วิธีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย

– รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภา  ในการเลือกประธานสภาและรองประธานสภานั้น สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ โดยการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน

– ถ้าหากว่ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าหากมีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ  เมื่อลงมติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานประกาศชื่อผู้ใดรับเลือกต่อที่ประชุม และให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์

– เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภา หรือมีแต่ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ในกรณีที่มีรองประธานสภาสองคน ให้รองประธานสภาคนที่หนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา ถ้ารองประธานสภาคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่สองเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา

– เมื่อประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองให้สมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในคราวประชุมนั้น

อำนาจหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจและหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุมสภา

– วางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

– กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภาควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมสภา ตลอดถึงบริเวณสภา

– เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา

– มอบหมายกิจการต่างๆ ให้รองประธานสภา

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ >>  ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ที่มาจาก: 1, 2, 3

บทความแนะนำ