การเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ – ประธานองคมนตรีรัฐบุรุษถึงอสัญกรรมแล้ว

Home / สาระความรู้ / ประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ – ประธานองคมนตรีรัฐบุรุษถึงอสัญกรรมแล้ว

วันที่ 26 พ.ค.62 มีรายงานว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า สิริอายุ 98 ปี 9 เดือน  ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. นายทหารประจำบ้านสี่เสาเทเวศร์ได้นำ พล.อ.เปรมส่ง รพ.พระมงกุฎฯ เพื่อรักษาอาการด่วน แต่ในเวลาประมาณ 09.00 น. พล.อ.เปรมก็ถึงอสัญกรรมอย่างสงบ  -เปิดประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีรัฐบุรุษ

ประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

นามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462  เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) มีพี่น้องดังนี้คือ

  • นายชุบ ติณสูลานนท์ อัยการพิเศษประจำเขต
  • นายเลข ติณสูลานนท์
  • นางขยัน ติณสูลานนท์ สมรสกับ นายประดิษฐ์ โมนยะกุล
  • นายสมนึก ติณสูลานนท์ คหบดี
  • นายสมบุญ ติณสูลานนท์
  • พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
  • ด.ญ.ปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย)
  • นายวีรณรงค์ ติณสูลานนท์

โดยปัจจุบันก่อนถึงแก่อสัญกรรมดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้งประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี 2523 ถึง 2531

ประวัติการศึกษา – จบการศึกษาได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง

นิสัยส่วนตัวชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬา การร้องเพลง

พลเอกเปรม ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะ และให้กำลังใจ ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังชื่นชอบการร้องเพลง ระยะหลังได้ฝึกหัดเล่นเปียโนกับ ณัฐ ยนตรรักษ์ และประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก พลเอกเปรมมีผลงานเพลงบันทึกเสียงจำหน่าย บรรเลงดนตรีโดย กองดุริยางค์ทหารบก

ฉายา “เตมีย์ใบ้” และฉายา “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยบุคลิกเป็นคนพูดน้อย ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ขานนามว่า “เตมีย์ใบ้” และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

ที่มาของคำว่า ป๋าเปรม

ในช่วงที่ พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าเมื่อปี พ.ศ.2511 ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือป๋าเปรม ขณะที่คนสนิทของ พล.อ.เปรม มักถูกเรียกว่าลูกป๋า

สักขีพยาน ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ พลเอกเปรม ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน ใน วันที่ 1 พฤษภาคม 2562

ผลงานขณะดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี

1. การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม

2. การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) โดยสานต่อจากนโยบายเงินผันที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

3.การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ

4. การแก้ปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจในช่วงแรกที่เข้าบริหารประเทศ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายประหยัดมุ่งเน้นในด้านการผลิตและการส่งออกของสินค้ากับประเทศสังคมนิยมตะวันออกอย่างได้ผล ทำให้รัฐบาลชุดนี้สามารถสร้างเสริมกำลังทางด้าน เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้อย่างน่าภูมิใจ จึงนับว่ารัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นผู้สร้างฐานเศรษฐกิจของชาติที่สำคัญ ทำให้ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างชาติมากขึ้น รัฐบาลได้สนับสนุนการส่งออก

5. การเข้าร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ทั้งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังได้เป็นผู้กล่าวปราศรัยสุนทรพจน์ในที่ประชุมด้วย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้นต่อสายตาต่างชาติ มุมมองทางด้านการลงทุนจากนักลงทุนทั้งหลายต่อท่าทีของภาวะทั่วไปของเศรษฐกิจไทยในด้านการผลิตและการอุตสาหกรรมนั้นแจ่มใสและชัดเจนมากขึ้น

การผลักดันนโยบาย “การเมืองนำการทหาร”

พลเอกเปรม ผลักดันนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งปรากฏออกมาในรูป คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 65/2525 เพื่อยุติการทำสงครามสู้รบ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับ ฝ่ายรัฐบาล ผลพวงจากนโยบายดังกล่าว ทำให้นักศึกษา ที่หนีเข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล มีโอกาสหวนมาเดินบนหนทางแห่งสันติภาพได้ นโยบายดังกล่าว ช่วยลด กระทั่งดับเชื้อไฟสงครามกลางเมืองในช่วงนั้นลง เพื่อให้รัฐบาลสามารถทุ่มเทกำลัง มาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ในช่วงปี 2524 การส่งออกของไทย โดยเฉพาะพืชผลเกษตรประสบปัญหา ขณะเดียวกัน มีปัญหาการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เงินบาทของไทย ผูกติดกับดอลลาร์ของสหรัฐฯ ซึ่งแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ พลเอกเปรม ได้ตัดสินร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่จะลดค่าเงินบาทถึงสามครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สาม ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งมีการปรับลดถึงร้อยละ 15

นอกจากนั้น รัฐบาลพลเอกเปรมยังได้ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนจาก “อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ “ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น “ระบบตะกร้าเงิน” ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และยังมีโครงการสำคัญ ๆ เช่น การพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก การสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และ แหลมฉบัง ล้วนตัดสินดำเนินโครงการ ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม

รางวัลที่ได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดต่าง ๆ ดังนี้

พ.ศ. 2518 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ
พ.ศ. 2521 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2525 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายหน้า)
พ.ศ. 2531 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ[16]
พ.ศ. 2531 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
พ.ศ. 2533 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี)
พ.ศ. 2539 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นปฐมดิเรกคุณาภรณ์

ลดธงครึ่งเสา เพื่อเป็นการแสดงความคารวะและไว้อาลัย

เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรม ระบุว่า

ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรม ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 นั้น รัฐบาลได้รับทราบด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง และเพื่อเป็นการแสดงความคารวะและไว้อาลัย จึงเห็นสมควรประกาศดังต่อไปนี้

1. ให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2562 ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2562 รวม 7 วัน

2. ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2562 ถึงวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2562) รวม 21 วัน

สำหรับประชาชนทั่วไปขอให้พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมประกาศ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อ้างอิงจาก: ratchakitcha

บทความแนะนำ