การเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศไทย | ขั้นตอนการเลือกตั้ง + Primary Vote คืออะไร?

Home / สาระความรู้ / ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศไทย | ขั้นตอนการเลือกตั้ง + Primary Vote คืออะไร?

การเลือกตั้งของประเทศไทย เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศไทย อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ โดยการให้ประชาชนออกเสียงเลือกบุคคลที่เห็นสมควร

เข้าใจง่าย ๆ ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศไทย

สำหรับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2476 เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่สภาพปกติ จึงได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมา

โดยการเลือกตั้งเป็นวิถีทางหนึ่งตามหลักประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนได้คัดเลือกบุคคลหรือตัวแทนไปทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของตน สังคม และประเทศชาติ ปัจจุบันการเลือกตั้งในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับชาติ แบ่งออกเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
2. ระดับท้องถิ่น ระดับท้องถิ่น แบ่งออกเป็น สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น

เลือกตั้ง

กำหนดการวันเลือกตั้ง ปี 2562 

เลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 08.00 – 17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีชื่ออยู่

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 500 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยแบ่งสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน (ทั่วประเทศมี 305 เขต เขตละ 1 คน)
2. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน

หน้าที่ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีดังนี้

1. พิจารณาร่างกฎหมาย
2. ตรวจาสอบรัฐบาลและควบคมุการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
3. ให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

รู้ทันเลือกตั้งกับ กกต. ตอน ส.ส. ในสภามาจากไหน?

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 กำหนดว่าระยะเริ่มแรกให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 200 คน ดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปี เป็นได้วาระเดียว โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือกบุคคล ซึ่งมาจากวิธีการเลือก สรรหา และแต่งตั้ง ดังนี้

1. ผ่านการเลือกกันเองของพลเมือง ประชาชน บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วม หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จำนวน 50 คน
2. ผ่านคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 194 คน
3. สมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน

หน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา มีดังนี้

1. กลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส.
2. ตรวจสอบและควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน
3. ให้ความเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (ตามรัฐธรรมนูญ)

เลือกตั้ง 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. อายุไม่น้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน (นับถึงวันเลือกตั้ง)

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1. เป็นพระสงฆ์ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
2. เป็นบุคคลที่ถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง
3. ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
4. วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

ขั้นตอนในการลงคะแนนเสียง (เลือกตั้ง)

1. ตรวจสอบรายชื่อหน้าหน่วยเลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานแสดงตน ได้แก่ บัตรประชาชนหรือบัตรราชการ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนจำนวน 13 หลัก
3. รับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ และลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง
4. เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาทลงบทช่องคะแนน
5. พับและหย่อนบัตรลงหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

เลือกตั้ง 

สาระน่ารู้… Primary Vote

การเลือกตั้งของประเทศไทยในครั้งนี้เป็นรูปแบบใหม่ นั่นก็คือรูปแบบ Primary Vote ถ้าแปลแบบตรงตัวก็คือ เลือกก่อน ถ้าจะให้ขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นก็คือ การเลือกตั้งขั้นต้นที่สมาชิกพรรคทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อเลือกคนที่ลงสมัคร หรือ Candidate ของพรรคก่อน ซึ่งเป็นวิธีการเลือกตั้งขั้นต้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด การเลือกตั้งแบบ Primary Vote แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. แบบปิด คือ ให้สิทธิสมาชิกพรรคเท่านั้นในการลงคะแนน
2. แบบเปิด คือ ทุกคนสามารถลงคะแนนได้หมด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือประชาชานทั่วไป ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทุกคนมีโอกาสลงความเห็นก่อนว่าจะเลือกใครลงสมัครเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนผู้มีสิทธิ์ทุกคนจะได้เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง โดยรายชื่อผู้ลงสมัครพรรคจะเป็นคนกำหนดมาว่ามีใครบ้าง ใครได้รับคะแนนมากที่สุดก็เอาลงมาสมัครอย่างเป็นทางการในลำดับต่อไป

ข้อดีของ Primary Vote

แน่นอนเลยว่ารูปแบบ Primary Vote จะช่วยทำให้ลดจำนวนผู้สมัครหรือคัดสรรผู้สมครให้มีจำนวนลดลง ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อพรรคเอง และต่อประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ผู้มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงได้มีส่วนร่วมในการคัดกรองผู้สมัครที่มีความสามารถมาเป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อพัฒนาและบริหารประเทศต่อไป

คุณสมบัติของพรรคการเมือง

สำหรับพรรคการเมืองที่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. มีสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตพื้นที่เลือกตั้งนั้น ๆ
2. พรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับเลือกมาจากสาขาพรรคการเมือง หรือเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
3. พรรคการเมืองที่จัดตั้ง หรือพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 (พรรคเก่า) จะต้องดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 53/2560 แต่หากพรรคการเมืองปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนจะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

อ้างอิงข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีwww.ect.go.thnews.mthai.com, Youtube : Krirkrit Sukprasert

บทความที่น่าสนใจ