มารยาทบนโต๊ะอาหารเป็นอีกเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้นึกถึงเท่าไหร่ แต่จริง ๆ แล้วถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง ถ้าเป็นการทานอาหารกับครอบครัว หรือเพื่อนที่สนิทก็อาจจะไม่ต้องแคร์อะไรมาก แต่ถ้าต้องเข้างานสังคมก็คงต้องเป๊ะกันหน่อย ลองมาดูกันว่ามีข้อไหนที่เรายังทำพลาดกันอยู่บ้าง รู้ไว้จะได้ไม่มีใครมาว่าเราได้เนอะ
มารยาทบนโต๊ะอาหารแบบสากล
การเข้าโต๊ะอาหาร
– ควรนั่งตอนไหน? แขกไม่ควรจะนั่งจนกว่าเจ้าภาพหญิงและแขกผู้มีเกียรติจะนั่งแล้ว หรือจนเจ้าภาพเชิญให้นั่ง ถ้าเป็นผู้ชายก็ควรจะช่วยเลื่อนเก้าอี้ให้ผู้หญิงด้านขวาเข้านั่งก่อน
– วางแขนไว้ยังไงดี? เวลานั่งให้พยายามนั่งตัวตรง โดยวางมือไว้บนตักหรือวางเบาๆ บนโต๊ะ แต่อย่าไปวางข้อศอกบน โต๊ะล่ะ เพราะอาจเผลอกดโต๊ะพลิกได้ และยังทําให้ผู้อยู่ซ้ายและขวาพูดคุยกันไม่สะดวก
– เวลานั่งโต๊ะควรเลื่อนเก้าอี้ให้ตัวชิดกับโต๊ะมากที่สุด จะได้ไม่ต้องก้มหรือเอนตัวเยอะเวลาทานอาหาร
ระหว่างนั่งบนโต๊ะอาหาร
– ไม่ควรส่งต่ออาหารให้คนอื่น : หลังจากได้รับเสิร์ฟอาหารมาแล้ว อย่าส่งต่ออาหารให้คนอื่น เพราะการเสิร์ฟอาหารเป็นหน้าที่ของพนักงานเสิร์ฟ
– เมื่อพนักงานเสิร์ฟอาหารให้คุณแล้วอย่าเพิ่งรีบทาน ถึงแม้จะหิวขนาดไหนก็ตาม ควรจะรอให้ทุกคนได้รับอาหารจนครบก่อน และอย่าลืมรอให้เจ้าภาพเชิญให้ทานก่อนค่อยเริ่มลงมือ
– ไม่ควรแลกอาหารหรือแบ่งอาหารให้คนอื่นในโต๊ะ
– ถ้าอยากคายอาหาร ห้ามก้มลงคายในจานหรือคายใส่ผ้าเช็ดปากเด็ดขาด แต่ให้คายใส่ช้อนแบบเงียบ ๆ อย่าให้น่าเกลียด
– อย่าทานแต่อาหารจานที่เราชอบ แต่ควรทานอาหารที่เสิร์ฟทุกจาน
– อย่าเติมเครื่องปรุงก่อนชิมเด็ดขาด เพราะเป็นการดูถูกว่ารสอาหารที่ปรุงมาไม่พอดี
– ถ้าต้องการเกลือ พริกไทย หรือเครื่องปรุงอื่น ๆ ที่หยิบไม่ถึง ให้รบกวนคนร่วมโต๊ะช่วยส่งต่อ ๆ กันมาให้ อย่าได้เอื้อมหยิบลุกขึ้นยืนหยิบเชียวนะ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ควรส่งต่อไปทางขวาให้ช่วยเก็บที่เดิม
– ถ้าต้องการใส่ซอสหรือมัสตาร์ด ไม่ควรตักซอสราดลงบนอาหาร แต่ให้ปาดซอสมาไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของจาน เวลาทานค่อยใช้ปลายมีดแต้มซอสไปบนอาหาร
– ถ้ามีเศษอาหารติดฟันระหว่างกำลังทานอาหาร ห้ามใช้ไม้จิ้มฟันบนโต๊ะอาหารเด็ดขาด ทางที่ดีควรรอจนทานเสร็จแล้วค่อยไปจัดการในห้องน้ำ
– หากจ้าภาพเสนอให้เติมอาหาร ถ้าเรายังไม่อิ่มก็ไม่ต้องอายที่จะตอบรับนะคะ เพราะนั่นแสดงถึงความอร่อยของอาหาร (โดยเฉพาะถ้าเจ้าภาพ ทําอาหารเอง) แต่ถ้าไม่ไหวแล้วจริง ๆ ก็ปฏิเสธได้
การใช้ผ้าเช็ดปาก
– เวลาใช้ให้พับครึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมวางไว้บนตัก
– หากต้องการซับปาก ให้ยกผ้าด้านในขึ้นแตะปากเบา ๆ เพราะเมื่อใช้เสร็จ รอยเปื้อนก็จะถูกซ่อนอยู่ด้านใน
– ถ้าลุกไปเข้าห้องน้ำให้วางไว้บนเก้าอี้ หรือวางด้านซ้ายของจาน แต่ถ้าทานเสร็จแล้วหยิบขึ้นมาวางบนโต๊ะทางด้านขวาของจาน ไม่ต้องถึงขนาดพับแต่ควรไว้วางไว้อย่างเรียบร้อย ไม่ขยุ้มไว้ หรือโชว์ด้านเปื้อนขึ้นมา
– ก่อนดื่มน้ำ อย่าลืมใช้ผ้าซับปากก่อน เพื่อที่แก้วจะได้ไม่เลอะคราบจากริมฝีปากของเรา
การวางส้อมและมีด มีความหมายซ่อนอยู่
– พักสักครู่ : ถ้ายังไม่อิ่มแต่อยากพัก หรือจะลุกไปเข้าห้องน้ำ ให้วางส้อมและมีดบนจานทํามุมกัน โดยวางส้อมไว้ด้านซ้าย และหันคมมีดไปทางส้อม
– ถ้าต้องการอาหารเพิ่มอีก : ให้วางส้อมและมีดไขว้กันเป็นเครื่องหมายบวกโดยวางส้อมไว้ด้านล่าง
– เมื่ออิ่มแล้ว ควรรวบส้อมและมีดโดยหันคมมีดไปทางซ้าย หงายส้อมขึ้นและวางเป็นแนวดิ่งกึ่งกลางของจาน และบริกรจะเก็บจานจากทางขวาของเรา
– อยากบอกว่าอาหารอร่อย : เมื่อทานอิ่มแล้วต้องการจะบอกว่าอาหารอร่อย ให้วางส้อมและมีดคู่กันหันหัวไปด้ายขวา
– ไม่ชอบอาหาร อาหารไม่อร่อย : เมื่อทานอิ่มแล้วต้องการจะบอกว่าไม่ชอบอาหาร หรืออาหารไม่อร่อย ให้วางส้อมและมีดโดยเอามีดสอดเข้าไปในซี่ของส้อม
บทความแนะนำ :
- นิสัย 7 อย่าง ที่ต้องเลิกให้ได้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จ
- 6 วิธีช่วยคนขี้หลงขี้ลืม | ไม่ต้องโมโหตัวเองอีกต่อไป
- ตื่นแล้วไปไหน? ไม่อยากเป็นคนห่วยต้องฟัง นี่คือสิ่งที่คนที่ประสบความสำเร็จทำกันในทุกเช้า
- อาการ FOBO “กลัวพลาดโอกาสที่ดีกว่า” ตัวถ่วง ที่ทำให้ชีวิตไม่ก้าวหน้า
- ชีวิตดี๊ดี ด้วย 9 วิธีนี้ แค่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ก็หายเครียด หายกังวล