การกราบ หรืออีกชื่อที่เราคุ้นเคย คือ อภิวาท มีรากศัพท์มาจาก อภิวาทน ในภาษาบาลี เป็นการแสดงความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ที่อาวุโสกว่ากว่า โดยกิริยาอาการแสดงความเคารพทั้งหลายทั้งในทางโลก และทางธรรม ซึ่งในปัจจุบันคนยุคใหม่ได้หลงลืม และเหมารวมว่าการกราบ มีแต่ เบญจางคประดิษฐ์ เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว การกราบนั้นมีมากกว่า ๑ รูปแบบ
การกราบแบบต่างๆ
เบญจางคประดิษฐ์
แปลว่า ตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ห้า โดยเราต้องกราบให้อวัยวะ 5 ส่วนจรดลงให้ติดกับพื้น คือ เข่าทั้งสอง ฝ่ามือทั้งสอง และหน้าผาก เป็นการกราบที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อบุคคลที่ควรเคารพนับถือสูงสุด นั่นคือ การกราบพระ
ท่าเตรียม
ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกันพอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วนิวชิดกัน (ท่าเทพบุตร)
หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลายเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)
ท่ากราบ
จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ
จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้น พร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วชี้แนบหว่างคิ้ว
จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อม ๆ กัน ให้มือและแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น คว่ำมือห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้
ชาย ศอกทั้งสองข้างต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง
หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง จากนั้นก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือทั้งสอง
ทำสามจังหวะให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วยกมือขึ้นไหว้ในท่าไหว้พระ แล้ววางมือคว่ำลงบนหน้าขาในท่าเตรียมกราบ จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม
การกราบผู้ใหญ่
การกราบผู้ใหญ่, ผู้อาวุโส, ผู้ที่เราเคารพ หรือ ผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตน และยังเป็นมารยาทที่สืบทอดกันมา และเชื่อกันว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
โดยการกราบผู้ใหญ่ ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกันให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ
ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการนั่งสำรวมประสานมือและเดินเข่าถอยหลังพอประมาณแล้วลุกขึ้นจากไป
และนี่ก็คือการกราบที่ถูกต้องหากได้อ่านแล้ว สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามโอกาส เพื่อแสดงความเคารพและรักษามารยาทไทยดี ๆ ให้อยู่สืบไป