โดยส่วนมากเราจะรู้จักว่ามารยาทในที่ต่างๆ มีอะไรบ้างและต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่บางคนอาจจะไม่รู้ว่า มารยาทในการนั่ง ก็มีเหมือนกัน ซึ่งทำได้ง่าย ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 ประเภทด้วยกัน
มารยาทในการนั่ง 6 ประเภท
1. นั่งพับเพียบ
เป็นการนั่งราบไปกับพื้น พับขาให้ขาขวาทับขาซ้าย หรือขาซ้ายทับขาขวาก็ได้เหมือนกัน วางมือไว้บนหน้าขาหรือเอามือเท้าพื้น โดยให้ปลายนิ้วมือเหยียดไปข้างหน้า แต่ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ไม่ควรเท้าแขน และไม่ควรจ้องตาผู้ใหญ่จนเสียกิริยา หากต้องนั่งพับเพียบในพิธีการควรเลือกนั่งพับเพียบข้างที่ถนัดเพราะต้องนั่งในอาการสำรวมตลอดเวลา
2. นั่งขัดสมาธิ
คือการนั่งบนพื้นก้นแนบพื้นพับขาเข้าหากัน โดยให้ขาข้างหนึ่งซ้อนทับอยู่บนขาอีกข้างหนึ่ง ส้นเท้าทั้งสองข้างจะสัมผัสพื้น เป็นอิริยาบถที่ใช้นั่งตามสบาย ส่วนการนั่งขัดสมาธิที่ใช้ในทางศาสนาจะมีอีก 2 แบบด้วยกันคือ การนั่งขัดสมาธิราบ โดยเพิ่มเติมจากการนั่งขัดสมาธิธรรมดา แต่ให้เอามือขวาทับมือซ้ายให้หัวแม่มือจรดกัน ท่านี้ใช้นั่งในการเจริญภาวนาทำจิตใจให้สงบ ส่วนอีกท่าหนึ่งคือการนั่งขัดสมาธิเพชร จะเพิ่มเติมการพับขาเข้าหากัน เอาฝ่าเท้าทั้งสองขัดหรือไขว้ขึ้นวางบนหน้าขา ท่าแบบนี้ต้องฝึกจนเกิดความชำนาญ
3. การนั่งหมอบ
เป็นการนั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า หมอบลงไปให้ศอกทั้งสองข้งลงถึงพื้น คร่อมเข่าที่ยื่นล้ำมาข้างหน้า ประสานมือกันไม่ก้มหน้าสายตาทอดลงต่ำ การนั่งลักษณะนี้ปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิงในโอกาสเข้าเฝ้าหรือรอรับเสด็จ
4. นั่งคุกเข่า
การนั่งย่อเข่าลงติดพื้น ถ้าเป็นแบบปลายเท้าตั้ง การนั่งลักษณะนี้ใช้นั่งเมื่อฝ่ายชายจะกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์หรือใช้นั่งในท่าถวายบังคมก็ได้ทั้งชายและหญิง ส่วนแบบปลายเท้าราบจะใช้เมื่อฝ่ายหญิงจะกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์
5. นั่งเก้าอี้
เป็นท่านั่งสบายๆ ถ้าเป็นเก้าอี้ที่มีเท้าแขนจะเอาแขนวางพาดก็ได้ แต่ไม่ควรนั่งโยกเก้าอี้ ไม่หลุกหลิก ขยับหรือลุกเดินไปมาบ่อยๆ โดยจะเพิ่มความสำรวมมากขึ้นต่อผู้ที่อยู่ตรงหน้า เช่น นั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ หรือประธานเป็นต้น
6. นั่งเล่นหรือนั่งพักผ่อน
เป็นการนั่งในอิริยาบถตามสบายจะนั่งท่าใดแบบใดก็ได้ตามความพอใจแต่ควรจะวังเรื่องความสำรวมไว้ด้วยหากกรณีผู้ใหญ่เดินผ่านมาให้งดการกระดิกเท้า แล้ะไม่อ้าขามากเกินไป
เท่านี้เราก็จะมี มารยาทในการนั่ง ที่ถูกต้องเหมาะสมตามโอกาส และถ้าฝึกทำตามอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เรามีความสง่างาม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ที่พบเห็น