คำราชาศัพท์ พระมหากษัตริย์ไทย ราชวงศ์จักรี วันสำคัญ วันหยุดราชการ สวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 9

การประชวร สวรรคต ของในหลวงรัชกาลต่างๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-9

Home / สาระความรู้ / การประชวร สวรรคต ของในหลวงรัชกาลต่างๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-9

จากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากเราจะได้เห็นโบราณราชประเพณีต่างๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้เราสนใจใคร่รู้มากขึ้นนั่นคือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติไทย ความรู้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ พระราชกรณีกิจ การศึกษา ชีวิตส่วนพระองค์ คุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านได้สร้างขึ้นมา จนรวมไปถึงการประชวรและสวรรคตของแต่ละพระองค์ท่าน

การประชวร สวรรคต ของในหลวงรัชกาลต่างๆ ตั้งแต่ 1-9

รัชกาลที่ 1

ทรงป่วยด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี วัดประจำรัชกาล วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร / ที่มา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

รัชกาลที่ 2

ทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี วัดประจำรัชกาล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

พระองค์ประชวรไม่สามารถตรัสสิ่งใดได้ แล้วก็สวรรคตอย่างกะทันหัน โดยมิได้ทรงเวนราชสมบัติให้เจ้านายพระองค์ใด ขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3 ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์) ขณะนั้นมีพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้าและการปกครอง จึงพร้อมใจกันอัญเชิญครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 / ที่มา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 3

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะสวรรคต 1 สัปดาห์ พระองค์ทรงพระประชวรหนักจนไม่สามารถให้ใครเข้าเฝ้าได้ เสด็จสวรรคต ตรงกับวันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมายุได้ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี

วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันเจษฎาบดินทร์ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และเห็นชอบให้ให้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาเจษฎาราชเจ้า” แปลว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่” / ที่มา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว / พระราชพินัยกรรม พระนั่งเกล้าฯ

รัชกาลที่ 4

พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรจับไข้ และทรงทราบว่าพระอาการประชวรของพระองค์ในครั้งนี้คงจะไม่หาย ตั้งพระทัยว่าเมื่อพระองค์จะสวรรคตก็ขอให้สวรรคตท่ามกลางสงฆ์ ขณะที่พระสงฆ์กระทำวินัยกรรมมหาปวารณา ในเวลา 20.06 นาฬิกา พระองค์ทรงภาวนาอรหังสัมมาสัมพุทโธแล้วผ่อนอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) เป็นครั้งคราว จนกระทั่ง เวลา 21.05 นาฬิกา เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

สิริพระชนม์มายุ 64 พรรษา รวมดำรงสิริราชสมบัติ 16 ปี 6 เดือน วัดประจำรัชกาล คือวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร / ที่มา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5

เสด็จสวรรคต ด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา

(พระองค์ได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา รัชกาลที่ 4 โดยในขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา) ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ / ที่มา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | รายพระนามพระภรรยาเจ้าและพระสนมในรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 6

ทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยทรงได้เสวยพระกระยาหารผิดสำแดงและทรงพระบังคน (อุจจาระหรือปัสสาวะ) มีมดมาเกาะพระบังคน หมอจึงสรุปว่า มีเบาหวานแทรกซ้อน แต่พระอาการก็ทรงกับทรุด จนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที รวมพระชนมายุ 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี / ที่มา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 7

ปี พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงพระประชวรมาก ด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ  พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2483 แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ 48 พรรษา พระตำหนักคอมพ์ตัน

หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2475 แล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ / ที่มา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว : www.rama7.chula.ac.th

รัชกาลที่ 8

ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้ เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี รวมพระชนมายุ 20 พรรษา

วันอานันทมหิดล ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำริจัดงานเป็นประจำทุกปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษา / ที่มา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

รัชกาลที่ 9

ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรอท(ไข้)ต่ำ หายพระทัย(ใจ) เร็ว มีพระเสมหะ(เสลด) พระปับผาสะ(ปอด)ซ้ายอักเสบ มีพระโลหิต(เลือด) เป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อย คณะแพทย์จึงทำการรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิต แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย พระอาการไม่คงที่ ก่อนที่พระอาการจะทรุดลงไปอีก มีการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

จนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และสวรรคตเมื่อเวลา 15.52 น. รวมพระชนมายุ 88 พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน

คณะรัฐมนตรียังมีมติกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  / ที่มา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

หลังจากที่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร (ขี้เถ้า) เชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

ลำดับพระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติม : สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง ,  ถามเรื่องการขึ้นครองราช ของ ร.3 และ ร.4  , สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

บทความแนะนำ