พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชเทวี พระสนม พระอัครมเหสี ราชวงศ์ ราชินี เจ้าจอม

ลำดับชั้นพระภรรยา พระเจ้าแผ่นดิน – พระอัครมเหสี พระราชเทวี พระสนมเอก

Home / สาระความรู้ / ลำดับชั้นพระภรรยา พระเจ้าแผ่นดิน – พระอัครมเหสี พระราชเทวี พระสนมเอก

บทความ – พระมเหสีไทย ลำดับชั้นพระภรรยา พระเจ้าแผ่นดิน – ตามโบราณราชประเพณี เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศพระภรรยา ให้มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดลำดับพระเกียรติยศแห่งพระภรรยาเจ้าและบาทบริจาริกา ดังนี้

พระมเหสีไทย ลำดับชั้นพระภรรยา พระเจ้าแผ่นดิน

พระภรรยาเจ้า

พระภรรยาเจ้า หมายถึง ภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน ที่มีพระกำเนิดเป็นเจ้า ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระฐานันดรศักดิ์ของพระภรรยาเจ้า ได้กำหนดไว้ว่ามี 4 ขั้น คือ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอรรคชายา

พระอัครมเหสี เป็น พระอิสริยยศพระภรรยาเอกในพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นพระมารดาขององค์รัชทายาท

ในอดีตนั้น พระอัครมเหสีมีคำนำพระนามแตกต่างกันแล้วแต่รัชสมัย อาทิ กรมหลวงบาทบริจาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี พระนางนาฎบรมอัครราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

บาทบริจาริกา

บาทบริจาริกา หมายถึง ภรรยาที่เป็นสามัญชน ของพระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราช และเจ้าฟ้า คือ มีฐานันดรตั้งแต่ “หม่อมราชวงศ์หญิง” ลงไป โดยมีคำนำหน้านามว่า เจ้าจอม

โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า … เมื่อแรกใช้นำหน้าประกอบการเรียกพระสนมที่เป็นคนโปรดว่า จอมพระสนม หรือ เจ้าจอมพระสนม แต่เวลาพูดจะย่อตัดคำว่า พระสนม ออก เหลือเพียง จอม หรือ เจ้าจอม และหากรับราชการจนมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาจะได้เลื่อนเป็น เจ้าจอมมารดา โดยบาทบริจาริกามีลำดับชั้น 4 ชั้น คือ พระสนมเอก พระสนม เจ้าจอม และนางอยู่งาน

ลำดับชั้นภรรยาเจ้า

พระอิสริยยศ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

1.พระอัครมเหสี
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (Her Majesty Queen)
สมเด็จพระบรมราชินี (Her Majesty Queen)
สมเด็จพระราชินี (Queen)
สมเด็จพระบรมราชเทวี (Her Majesty Queen)
สมเด็จพระอัครราชเทวี (Her Majesty Queen)

2.พระมเหสี
พระนางเจ้า พระวรราชเทวี (Her Majesty Queen/Her Royal Highness)

3.พระราชเทวี
พระนางเจ้า พระราชเทวี (Her Royal Highness)

4.พระนางเธอ (Her Royal Highness)

5.พระอรรคชายาเธอ (Her Highness)

6.พระราชชายา
พระวรราชชายา (Her Royal Highness)
พระราชชายา (Her Highness)

7.พระสนมเอก
เจ้าคุณพระ ( Royal Noble Consort)
เจ้าคุณจอมมารดา (Noble Consort)
เจ้าจอม (Consort)

8. พระ (Lady)

9.พระสนม
เจ้าจอมมารดา (Noble Consort)
เจ้าจอม (Consort)
จอมมารดา (Front Palace Consort)

หมายเหตุ “เจ้าคุณพระ” คือ “ภรรยาของพระมหากษัตริย์ ที่มิได้เป็นเจ้านาย ซึ่งมีลูกชายหรือลูกสาว” จากหนังสือ คำราชาศัพท์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

พระภรรยาของเจ้าชาย

มีทั้งหมด 4 ฐานันดร ได้แก่

1. พระวรชายา คือ พระอิสริยศ ของพระภรรยา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี , พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ (พระนามเดิมตอนยังทรงตำแหน่ง)

2. พระชายา คือ พระภรรยาของเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นเจ้าหญิงมาตั้งแต่กำเนิด เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ “พระชายา” ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

3. ชายา คือพระภรรยาของหม่อมเจ้า ซึ่งมีกำเนิดเป็นเจ้าเหมือนกัน เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา “ชายา” ในหม่อมเจ้าธานีเศิกสงัด ชุมพล

4. หม่อม คือคำนำหน้านามสำหรับภรรยาที่เป็นหญิงสามัญชนของเจ้าชาย เช่น หม่อมแจ๊กเควลิน จิตรพงศ์ ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยาในหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมอัญวิดา ยุคล ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล

ตำแหน่งพระสนมเอก

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระสนมทั้งปวงจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอม ถ้ามีพระราชโอรส พระราชธิดา ก็จะได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา เหมือนกันหมด แต่จะแบ่งเป็นพระสนมเอก หรือ พระสนมชั้นใดก็ตาม แบ่งจากชั้นของเครื่องยศที่ได้รับพระราชทาน

เพราะฉะนั้นพระสนมที่ออกนามว่า เจ้าจอม หรือเจ้าจอมมารดาก็ดี จะเป็นพระสนมเอก พระสนมโท หรือ พระสนมตรี ก็ได้ เวลาออกนามก็ใช้ว่าดังนี้ เช่น เจ้าจอมแว่น พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 , เจ้าจอมมารดาอ่อน พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5

เจ้าจอมมารดา

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งพิเศษคือ เจ้าคุณจอมมารดา ซึ่งจะพระราชทานไม่บ่อยนัก พระราชทานแก่พระสนมเอกผู้ใหญ่ ที่ได้รับราชการด้วยความสุจริตมาเป็นเวลานาน

หรือในกรณีที่พระสนมท่านนั้นเป็นพระชนนีในพระภรรยาเจ้าของพระมหากษัตริย์ จึงทรงยกย่องให้เป็นพิเศษ เช่น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4 ( พระชนนีในสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ทั้งสามพระองค์ ) เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 (พระชนนีในพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5) และ เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 (บาทบริจาริกาท่านแรกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงสู่ขอมาเป็นสะใภ้หลวง พระราชทานตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์) เป็นต้น

ที่มา Wikipedia/พระยศเจ้านายไทย , คำราชาศัพท์ , คำราชาศัพท์2 , ราชาศัพท์-นาม ภาพจาก www.pinterest.com

วันที่ 28 ก.ค. 2562 มี พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนา พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ ขึ้นเป็น เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี .. อ่านข้อมูลเพิ่มเติม File : www.ratchakitcha.soc.go.th

ต่อมาในวันที่ 21 ต.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศประกาศ เรื่อง ให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารพ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระบรมราชโองการ ส่งผลให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พ้นจากตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา อ่านประกาศ ที่นี่

การใช้คำต่อ เจ้าคุณพระ
1. แทนท่านเจ้าคุณ “ท่านเจ้าคุณ”
2 บุรุษแทนตนเอง “กระผม” ลงท้าย “ครับผม”
3. แทนตนเอง “ดิฉัน” ลงท้าย “ค่ะ”

การใช้คำต่อ เจ้าคุณพระ *ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์

บทความแนะนำ