พระสุจริตสุดา มีชื่อเดิมว่า เปรื่อง สุจริตกุล เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 ณ บ้านปากคลองด่าน ประตูน้ำภาษีเจริญ เป็นธิดาคนโตจากบุตรจำนวน 12 คนของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (สกุลเดิม เตชะกำพุช) มีน้องสาวที่เป็นที่รู้จักคือ ประไพ (ที่ต่อมาได้เป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมนเฑียร)
พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล)
เปรื่อง สุจริตกุล เป็นพี่สาวคนโตของครอบครัวที่ต้องดูแลน้อง ๆ โดยเฉพาะประไพ น้องสาวคนเล็ก ซึ่งโปรดการขี่ม้าเล่นด้วยกันเสมอ ต่อมาเมื่อครั้งที่เธอจะโกนจุก ได้เข้าไปในพระบรมมหาราชวังเพื่อให้ท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) ผู้เป็นอาแต่งตัวให้ตามประเพณี แล้วสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็โปรดให้เข้าถวายตัวหลังการโกนจุก และมีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้วลาออกจากโรงเรียน และทูลลาออกมาพำนักที่บ้าน
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ก็โปรดให้เปรื่องมาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่มีการจัดตั้งกองเสือป่าหญิงขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เปรื่อง สุจริตกุล รับพระราชทานยศนายกกองเสือป่าหญิงรุ่นแรกด้วย
เมื่อเปรื่องมีอายุได้ 26 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงขอเปรื่องจากเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 และถือเป็นสุภาพสตรีสามัญชนคนแรกที่ได้เข้าพิธีดังกล่าว
โดยสวมชุดเป็นเจ้าสาวแบบอังกฤษ คือ สวมเสื้อกระโปรงสีขาว มีผ้าโปร่งสีขาวคลุมศีรษะ ประดับดอกส้ม และถือช่อดอกไม้
มีการพระราชทานน้ำสังข์เป็นทางการ ด้วยพระกรุณาของสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระสุจริตสุดา ตำแหน่งพระสนมเอก พร้อมทั้งพระราชทานตราจุลจอมเกล้าให้สมกับศักดิ์พระสนมเอก
พระสุจริตสุดาเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “คุณพระ” หากเมื่อใดตั้งครรภ์จะสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า แต่อย่างไรก็ตามพระสุจริตสุดามิได้มีครรภ์สมดั่งพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคล้องพระกร พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งที่ เจ้าจอมสุวัทนา ในวันราชาภิเษกสมรส ทรงพระดำเนินลอดซุ้มกระบี่ราชองครักษ์ จากพระที่นั่งบรมพิมาน ไปทรงนมัสการพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ณ พระพุทธรัตนสถาน วันที่ 10 สิงหาคม 2467
พระสุจริตสุดาและพระนางเจ้าสุวัทนาฯ
พระสุจริตสุดาเป็นผู้มีจิตใจดี รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดรัชกาล และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้คอยให้คำแนะนำกับ เจ้าจอมสุวัทนา (ต่อมาได้สถาปนาเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี) เกี่ยวกับการปฎิบัติตัวในราชสำนัก เสด็จพระนางฯ ออกนามว่า “คุณพระใหญ่”
คุณพระสุจริตสุดามีความสนิทสนมกับ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มาก จนเมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย พระสุจริตสุดาก็ได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ทั้งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ เสมอ ทั้งในเวลาปกติและเมื่อคราวทั้งสองพระองค์โปรดให้มีงานการกุศล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ออกนามพระสุจริตสุดาว่า “แม่พระใหญ่”
ในรัชกาลพระราชสวามี คุณพระได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ต่าง ๆ พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาเสมอ
ข้อมูลจาก สุจริตกุล , www.reurnthai.com
ภาพจาก www.trangzone.com , News.MThai.com , www.imgrum.org/tag/kingrama6 , ประมวลพระรูปพระนางเจ้าสุวัทนา , ไฮโซโบราณ (เรือนไทย) , Tag สุจริตกุล , สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ
บทความแนะนำ
- พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระนางผู้ถูกจำสนมในวังตลอดรัชกาล | อดีตพระคู่หมั้น นางห้าม ร.6
- พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสี ร.6 | พระนางเธอผู้ถูกลอบปลงพระชมน์
- พระนาม สมเด็จพระราชินี ทุกรัชกาล ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
- พระราชประวัติ สมเด็จพระราชินีสุทิดา สมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10
- คำราชาศัพท์ หมวดเครือญาติ | พระบรมวงศานุวงศ์ พระยศเจ้านายไทย