พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมเหสี พระสนมเอก รัชกาลที่ 6 สตรีในวัง

พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสี ร.6 | พระนางเธอผู้ถูกลอบปลงพระชมน์

Home / สาระความรู้ / พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสี ร.6 | พระนางเธอผู้ถูกลอบปลงพระชมน์

พระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ (3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504) มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า “ท่านหญิงติ๋ว” เป็นพระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล) ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะพระมเหสี ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และเป็นพระขนิษฐาต่างชนนีของอดีต พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (ซึ่งเคยเป็นอดีตพระคู่หมั้นใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และได้รับการสถาปนาเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี)

พระนางเธอลักษมีลาวัณ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระองค์เป็นผู้ริเริ่มรื้อฟื้น คณะละครปรีดาลัย ของพระบิดาขึ้นมาอีกครั้ง ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงลำพัง ทรงใช้เวลาที่มีอยู่ในการประพันธ์นวนิยาย ร้อยกรอง และบทละครจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ, วรรณพิมล และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 สิริพระชนมายุ 62 พรรษา ซึ่งผู้ก่อคดีฆาตกรรม คืออดีตคนสวนที่พระองค์ไล่ออก และก่อคดีดังกล่าวด้วยประสงค์ในทรัพย์สินส่วนพระองค์ จับผู้ร้ายได้ในวันที่ 4 กันยายน 2504

พระราชประวัติตอนต้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณในวัยเยาว์ ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ซึ่งพระบิดาเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณ ทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติ ผิดแผกแตกต่างไปสตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ

หม่อมเจ้าวรรณพิมล (พระนางเธอลักษมีลาวัณ) ทรงเปิดพระองค์อยู่ในสังคมชั้นสูง ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมและความบันเทิง ทำให้หลายคนต่างมองเห็นภาพความสนุกสดใส ของบรรดาพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า “… ไม่มีผู้หญิงคนไทยครอบครัวใด ที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่าองค์หญิงตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักพบมา”

พบกันครั้งแรก กับ ร.6

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล (พระนางเธอลักษมีลาวัณ) ทรงเฝ้าทูลละอองธุลี ร.6 เป็นครั้งแรก ที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณจึงเสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ ซึ่งรวมไปถึงพระภคินีคือ หม่อมเจ้าวรรณวิมล ซึ่งต่อมาได้ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นอันมาก

ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 หลังจากที่ทรงพบปะกับเหล่าท่านหญิงจากตระกูลวรวรรณไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ ให้พระธิดาทั้งหลายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังนี้

หม่อมเจ้าวรรณวิมล เป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี , หม่อมเจ้าวิมลวรรณ เป็น หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร , หม่อมเจ้าพิมลวรรณ เป็น หม่อมเจ้านันทนามารศรี , หม่อมเจ้าวรรณพิมล เป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ , หม่อมเจ้าวัลลีวรินทร์ เป็น หม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล

การหมั้นหมาย ของ ร.6

ในกาลต่อมา รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าก็ทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผย ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างที่ทรงหมั้นอยู่ และพบว่าทรงติดต่อกันทางจดหมาย เพื่อระบายความทุกข์ส่วนพระองค์ และหลังจากที่รัชกาลที่ 6 ทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เสมอ…

และหลังจากการถอดถอนหมั้นจากพระวรกัญญาปทานเพียงไม่กี่เดือน ก็ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464 ขณะพระชันษาได้ 22 ปี และ 6 เดือนต่อมา ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส..

แต่หลังจากการเฉลิมพระยศได้เพียง 1 เดือน 19 วัน..

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ ทรงอภิเษกสมรสกับ พระสุจริตสุดา (พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล)) ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 และทรงตัดสินพระราชหฤทัย “แยกกันอยู่” กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ซึ่งยังมิได้อภิเษกสมรสกัน

ต่อในปีต่อมา มาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 เสมือนรางวัลปลอบพระทัย

แยกไปประทับห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง

หลังจากนั้นพระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงพอพระทัยที่จะแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงาพระนางจึงทุ่มเทไปกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละครร้องและการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา ทรงเก็บพระองค์ในพระตำหนักลักษมีวิลาศไม่มีพระประสงค์จะพบปะสังสรรค์กับผู้ใด

ทั้งนี้หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระองค์ได้รับส่วนแบ่งจากพระราชมรดก อาทิ เพชร, ทอง, สังวาล, กระโถนทอง และพานทอง ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 6 ก็ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงผู้เดียว แม้เจ้าพี่เจ้าน้องจะคอยมาสนใจความเป็นอยู่ แต่พระองค์ก็มิได้นำพา โดยรับสั่งด้วยสำนวนติดพระโอษฐ์ว่า “I don’t care” และ พระองค์มักมีปัญหากับเหล่าคนใช้ และจบด้วยการไล่คนใช้ออก

ในภาพจากหนังสือ เจ้าชีวิต บรรยายแต่เพียงว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระนางเธอลักษมีลาวัณ (ขวาสุด)

การสิ้นพระชนม์ ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ

ก่อนสิ้นพระชนม์

เมื่อทรงพระชรา พระองค์ก็ทรงมีพระจริยาวัตรหงุดหงิดง่าย ใครเข้าพระพักตร์ไม่ใคร่จะได้ พระประยูรญาติจึงมิใคร่สามารถทนอยู่ถวายปรนนิบัติได้ ประกอบกับพระนางเธอฯ ปรารถนาจะประทับโดยสันโดษ ทรงโปรดความวิเวก ทำสวน และเพื่อประโยชน์ในการทรงงานประพันธ์ ซึ่งบรรดาข้ารับใช้ในพระนางเธอไม่มีผู้ใดจะทนอยู่ได้นานนัก

ในการพอพระทัยแบบสันโดษนี้เอง ได้เคยมีพระประยูรญาติที่หวังดีเตือนพระสติว่าไม่เป็นการปลอดภัยและเสี่ยงต่อภยันตรายยิ่งนัก แต่ทุกองค์ที่หวังดีกลับได้รับสั่งจากพระนางเธอฯ ว่า “ก็ให้มันรู้ไป ใครจะมาทำพระนางเธอลักษมีลาวัณ บ้านก็อยู่ใกล้กรมทหาร ติดถนนใกล้โรงพักอย่างนี้” พระนางเธอฯ ทรงกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ทรงกลัว จึงยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายวางแผนชิงพระราชทรัพย์ได้

สิ้นพระชนม์

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวน ที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไป เห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศ มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคา ทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ

ซึ่งคนร้ายได้ลอบทำร้ายพระนางเธอ ด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังขณะทรงปลูกต้นมะละกอเล็กๆ ที่ข้างพระตำหนัก แล้วใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียร 3 ครั้ง จากนั้นใช้สันขวานทุบพระศออีก 1 ครั้งจนสิ้นพระชนม์ทันที โดยเมื่อตรวจสอบพระวรกายบริเวณพระอุระ (หน้าอก) พบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศอ (คอ) อีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียร (ศีรษะ) ด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล

ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนัก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร เพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง และเงินพระราชสมบัติทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ตู้เซฟที่เก็บฉลองพระองค์และเครื่องประดับของราชวงศ์จักรีมูลค่านับล้านบาทยังอยู่ในสภาพปกติ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 ว่าเธอไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ พบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องพระบรรทมถูกรื้อกระจาย และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถสิ้นพระชนม์มาไม่ต่ำกว่าสามวัน

ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ด้วยพระนางเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

พระนางเธอลักษมีลาวัณสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เวลา 15:00 นาฬิกา ณ พระตำหนักลักษมีวิลาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติ หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพระหว่างวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2504 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ณ ศาลามรุพงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม กำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพฯ ระหว่างวันที่ 18 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ซึ่งพิธีจะมีขึ้น ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

ที่มา การสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ / คดี ฆาตกรรม “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” มเหสี ร.6 บุบพระเศียรด้วยชะแลง!!!

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6)

ประสูติ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมายุ 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี มีพระมเหสี 3 พระองค์ คือ

ที่มา รักหลอนในรั้ววัง ตอนที่ 1ตอนที่ 2 

ข้อมูลเพิ่มเติม วังลักษมีวิลาศ , พระนางเธอลักษมีลาวัณ , พระขนิษฐาต่างชนนี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี , พระราชสวามี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , พระสุจริตสุดา : เปรื่อง สุจริตกุล พระสนมเอกใน ร.6 | อาคารวรรณสรณ์ (Wannasorn Tower)

บทความแนะนำ