พระภรรยาเจ้า พระมเหสี เรื่องในวัง

เจ้าดารารัศมี ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้มีบทบาทสำคัญรวมล้านนาเข้ากับสยาม

Home / สาระความรู้ / เจ้าดารารัศมี ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้มีบทบาทสำคัญรวมล้านนาเข้ากับสยาม

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476) เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา

ขณะทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมี

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า “เจ้าดารารัศมี” พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า “เจ้าน้อย” และในพระประยูรญาติว่า “เจ้าอึ่ง” ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน 10) หรือตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ที่ตั้งของ “ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม) เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร มีพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรหนึ่งพระองค์คือเจ้าจันทรโสภา

เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบ ธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว และโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง

เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง

ในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าดารารัศมี ตามแบบอย่างเจ้านายในราชวงศ์จักรีเป็นกรณีพิเศษ (ปล. แม่เจ้าเทพไกรสร พระมารดาได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปในปี 2426 นี้เอง) คล้อยหลัง 3 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพมหานครนับแต่นั้นมา

เหตุแห่งการเมืองไปสู่ความรัก ระหว่างสองพระองค์

เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระบิดาได้ประทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่า ป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนา เป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้ ในกรณีนี้ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระธิดา) เพื่อสร้างตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าจอมดารารัศมีและข้าหลวงในพระองค์

ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ ว่าเป็น “เจ้าหญิงเมืองลาว” แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ

ทั้งนี้ เจ้าจอมดารารัศมีสามารถทรงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด แต่ที่โปรดและทรงได้ถนัดที่สุดคือจะเข้ เจ้าจอมดารารัศมี ยังทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระปรีชาสามารถด้านการทรงม้า

พระมเหสี ในตำแหน่งพระราชชายา

ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมี มีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ “พระราชชายา” และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น

ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอ ด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง “พระอัครชายาเธอ” เลยทีเดียว ดังปรากฏความตามสำเนาพระราชหัตถเลขา ที่พระราชทานไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจน

ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา

ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระบรมราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดเจ้าดารารัศมี ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง “เจ้าจอมดารารัศมี” ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง “เจ้าจอมดารารัศมี” ขึ้นเป็น “เจ้าจอมมารดาดารารัศมี”

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า “เสด็จเจ้าน้อย” เป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อย ที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น “พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” “พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” และ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” ตามลำดับ)

การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดา

การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่า ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น “เจ้าฟ้า” ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดา ในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์

ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์

แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่พระบรมราชสวามีประทับร่วมอยู่กับพระองค์และพระราชธิดา เสียจนหมดสิ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์ จากพระบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม

ไม่ว่าจะอย่างไรเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้

กู่พระอัฐิในวัดสวนดอก และ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

พระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวี ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ “เจ้าจอมมารดาดารารัศมี” ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ออกพระนามว่า “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” เป็นพระมเหสีลำดับที่ 5 ในเวลานั้น (ลำดับที่ 1-4 มีรายพระนามดังนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ไม่นับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกและพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ที่สวรรคตและ สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

ที่ประทับ

ในระหว่างที่พระองค์รับราชการเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวและหลังจากที่พระองค์เสด็จประทับยังจังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ประทับยังสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้

ตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ภายในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ตำหนักสวนฝรั่งกังไส ภายในพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ภายในพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก จังหวัดเชียงใหม่
คุ้มรินแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

ที่มา www.wikiwand.com/เจ้าดารารัศมี , วิกิพีเดียพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ , ความลี้ลับในหีบกะไหล่ทอง “เจ้าดารารัศมี” พระราชชายา ใน ร.5

ภาพเพิ่มเติม thailaolannashan-royaltynobleswww.renown-travel.com , culturalartcu.blogspot.com

บทความแนะนำ