สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (21 ธันวาคม พ.ศ. 2377 — 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับหม่อมงิ้ว และเป็น พระราชนัดดา (หลาน) เพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 3 ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า … สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระอัครมเหสี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2395 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 หลังจากการสวรรคตของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สร้างวัดโสมนัสราชวรวิหาร เพื่อพระราชอุทิศให้แก่พระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
พระองค์เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ประกอบกับการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา พระองค์จึงได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี นับเป็นพระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ 3 ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ และได้รับการอุปการะจากพระอัยกาให้มาเลี้ยงในวังด้วยทรงสนิทเสน่หา ในพระเจ้าหลานเธอผู้กำพร้าบิดาแต่ยังเยาว์ พระองค์ได้เข้าพิธีโสกันต์เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2389
เจ้าหญิงที่อายุน้อยที่สุดในพระราชวงศ์
ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีเหสี พระชนมายุราว 17-18 พรรษา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ได้ขึ้นเสวยสิริราชสมบัติ และในวันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2395 พระองค์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในที่สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี ขณะมีพระชนมายุราว 17-18 พรรษา นับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรก แต่ก็ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศอยู่เพียง 9 เดือนเท่านั้น ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395
พระองค์มีพระราชโอรส 1 พระองค์ เรียกกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จเจ้าฟ้าโสมนัส ตามพระนามของพระมารดา คือโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2395
เรื่องราวไม่กี่เดือน หลังทรงพระครรภ์
ไม่กี่เดือนหลังจากสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระครรภ์ เหตุการณ์อันน่ากลัวก็เกิดขึ้น.. สมเด็จพระนางเธอฯ ทรงพระประชวรปวดท้องถึงกับตรัสไม่ได้ความ สั่นไปทั้งตัว ทรงคลื่นเหียนเวียนไส้ ถึงกับตกพระโลหิตติดต่อกันเกือบอาทิตย์ แต่แล้วพระอาการก็หายเป็นปกติเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ทรงพระดำเนินได้สะดวกปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม
แต่แล้วก็กลับมามีอาการเจ็บพระครรภ์อีก เป็นๆ หายๆ อย่างนี้จนพระครรภ์เข้าเดือนที่ 7 แต่คราวนี้เห็นจะเป็นมากกว่าครั้งก่อนๆ ถึงกับเจ็บท้องข้ามคืนและข้ามไปอีกหลายๆ คืนเลยทีเดียว เหมือนจะทรงมีพระประสูติกาล แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ..
ประสูติได้เพียง 4 ชม. พระราชโอรสองค์น้อยสิ้นพระชนม์
เที่ยงคืนวันนั้น (วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2395) พระองค์ทรงมีพระประสูติกาลเป็นพระราชกุมาร แต่หลังจากประสูติได้เพียง 4 ชั่วโมง พระราชโอรสองค์น้อยก็เริ่มหายพระทัยโรยราและสิ้นพระชนม์ลงโดยสงบ ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระนาง
แต่แล้วรุ่งขึ้น ตัวสมเด็จพระนางเธอฯ กลับมีพระอาการทรุดลง อาเจียนเป็นสีดำ สีเขียว และสีเหลือง แพทย์หลวงจึงเร่งระดมรักษาพระอาการประชวรแต่แล้วพระอาการก็ทรุดลงอีก คณะแพทย์หมดหนทาง พระเจ้าอยู่หัวฯ ถึงกับมีคำสั่งให้ราชสำนักออกประกาศไปทั่วทั้งแผ่นดินว่าจะพระราชทานเงินทองกว่า 2 หาบ หากใครรักษาสมเด็จพระนางได้
พระอาการเหมือนจะทรงทุเลาขึ้น แต่ผ่านมาเดือนกว่ากลับมีพระอาการที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดขึ้นมาอีก ทั้งน้ำเลือด น้ำเหลืองและน้ำหนอง หลั่งไหลออกมาอย่างรวดเร็วจากร่างกายของพระองค์ แทบจะทุกทิศ ข้าหลวงถึงกับต้องใช้อ่างใบขนาดย่อมมารองไว้ วินาทีนั้นทรงตรัสหาแต่พระโอรสหวังว่าจะได้เห็นหน้า
บ่ายวันที่ 10 ตุลาคม 2395 พระองค์ทรงหายพระทัยเป็นครั้งสุดท้าย แล้วสวรรคตลงอย่างเฉียบพลัน เสียงโศกอาดูรของพระราชวงศ์ข้าหลวงในราชสำนักดังปกคลุมไปทั่วทั้งวังหลวง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้ออกพระนามาภิไธย ของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี” ตามที่ทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 หากแต่มิได้เป็นพระราชชนนีในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆ มา
พระอิสริยยศ
- หม่อมเจ้าโสมนัส (21 ธันวาคม พ.ศ. 2377 – พ.ศ. 2388)
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (พ.ศ. 2388 – 2 มกราคม พ.ศ. 2395)
- สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในที่สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี (2 มกราคม พ.ศ. 2395 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395)
- สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (พระนามหลังการเสด็จสวรรคต)
วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร
หรือ วัดโสมนัสวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในอุโบสถและพระวิหารมีภาพจิตกรรฝาผนังอันงดงาม มีคลองผดุงกรุงเกษมที่รัชการที่ 4 โปรดให้ขุดขึ้นแล้วเสร็จในปี 2395 ผ่านทางด้านหน้าของพระอุโบสถ ภายในวัดมีเจดีย์ 2 องค์ เจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (เจดีย์ทอง รูปทรงแบบลังกาสีทองเหลืองอร่าม ยอดแหลมสูงเด่นเป็นสง่า สามารถมองเห็นได้ไกล ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาชมความงามและกราบนมัสการกันอยู่มิได้ขาด)
ภาพ อนุสรณ์สถานแห่งความรัก วัดโสมนัส และ วัดมกุฏกษัตริย์
ที่มา : Somanass Waddhanawathy , สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี , รายพระนามพระภรรยาเจ้าและพระสนมในรัชกาลที่ 4 , ประวัติชาติไทยตั้งแต่ต้นกัป พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ , อนุสรณ์สถานแห่งความรัก วัดโสมนัส และ วัดมกุฏกษัตริย์ , การประชวร และสวรรคตของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี (ตอนจบ) โดย นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ
บทความแนะนำ
- นางละครและพระสนมเชื้อสายจีน ในรัชกาลที่ 4 “เจ้าจอมมารดาเพ็ง” | เรื่องในวัง
- ลำดับชั้นพระภรรยา พระเจ้าแผ่นดิน | พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี พระอรรคชายา
- ความรู้เกี่ยวกับ ฐานันดรศักดิ์ พระยศเจ้านายไทย พระบรมวงศานุวงศ์ ราชนิกุลต่างๆ
- ไหว้ศาลพระนางเรือล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ริมแม่น้ำ วัดกู้
- คำราชาศัพท์ หมวดเครือญาติ | พระบรมวงศานุวงศ์ พระยศเจ้านายไทย