ย้อนอดีต รัชกาลที่ 7 ราชวงศ์ ราชินี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

รัก…หนึ่งเดียวของ รัชกาลที่ 7 | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

Home / สาระความรู้ / รัก…หนึ่งเดียวของ รัชกาลที่ 7 | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

เรื่องราวความรักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ที่มีให้กับ พันเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระอัครมเหสีเพียงพระองค์เดียวในพระองค์ เป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรป และระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย… แต่เดิมพระมหากษัตริย์ไทยจะมีพระมเหสี เจ้าจอม หรือพระสนมเอกจำนวนมาก นับเนื่องจากกษัตริย์สมัยสุโขทัยลงมา จวบจนกระทั่ง รัชกาลที่ 6 แต่เมื่อถึง รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านรัก ผู้หญิงคนเดียวในชีวิตนั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี

หนึ่งเดียวของในใจ ร.7 – สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

ในอดีตกล่าวกันว่า .. พระองค์เป็นสตรีชาวไทยที่ทรงพระสิริโฉม สามารถเลือกฉลองพระองค์ยุโรปมาสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีพระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ชาววังเรียกขานพระนามพระองค์ว่า ท่านหญิงนา

ในวัยเยาว์

เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ 2 ปี พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตามราชประเพณีของเจ้านายสมัยก่อนที่ถวายตัวเข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่มีพระ ชันษายังน้อย ซึ่งในระยะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต ในเวลานี้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีกำลังทรงศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นอยู่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีชันษาได้ 6 ปี ได้ทรงย้ายสถานที่พักจากพระราชวังดุสิต ไปพระบรมมหาราชวังตามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปด้วย และได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนราชินีพร้อม หม่อมเจ้าพระองค์อื่น ๆ

หลังจากเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้เสด็จย้ายจากพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังพญาไท ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่และได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้เป็นการถาวรจนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งหม่อมเจ้ารำไพพรรณีได้ตามเสด็จมาด้วย โดยประทับอยู่บนพระตำหนักฝ่ายในติดกับห้องเสวย

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีชันษาได้ 8 ปีเศษ และได้ผ่านพระราชพิธีเกศากันต์ (โกนจุก) แล้ว ก็ได้ทรงรู้จักกับ ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งได้เสด็จนิวัติกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากทรงได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษแล้ว สาเหตุก็อันเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทกับพระชนนีเป็นครั้งคราว และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจะเป็นผู้ที่สนิทกันมากที่สุดด้วย

เสกสมรส..

เมื่อปี พ.ศ. 2460 หลังจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ก็ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ที่จะเสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย ถนนสามเสน และพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน

การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ รวมทั้งยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย

สถาปนาเป็นพระวรราชชายา

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) เสด็จสวรรคต ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระนามเป็น หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรก ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พ.ศ. 2475

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับอยู่ที่ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศทางทวีปยุโรป และได้ทรงรับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ

อาศัยอยู่ที่ยุโรป

ถึงแม้จะทรงอยู่ที่ยุโรป แต่ก็ยังมีการขัดแย้งเจรจาเกี่ยวกับการเมืองกับทางกรุงเทพมหานครสืบเนื่อง กันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด ก็มีการขัดแย้งกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล เช่นในเรื่องที่รัฐบาลได้แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่สองและรัฐบาลไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ตรงกับพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแสดงความไม่เห็นพ้องกับคณะผู้บริหาร ประเทศ ด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยทรงสละราชสมบัติใน วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่ยังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า เห็นพ้องต้องกันกับพระราชสวามีในการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชย์

เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ต้องตัดสินพระราชหฤทัยในเรื่องที่สำคัญ ก็ทรงเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระราชนัดดา กล่าวถึงเหตุการณ์ในการตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความตอนหนึ่งว่า

“…ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) และหญิงอาภา (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี) ควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูง ที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้นเพราะเราทุก ๆ คนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพฯ ต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้นฉันก็เห็นด้วยทันที…”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศที่จะทรงสละราช สมบัติแล้ว พระองค์พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน ทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนบท ทรงจัดสวน เลี้ยงนกเลี้ยงปลา เสด็จประพาสทัศนศึกษาตามโบราณสถานต่าง ๆ เป็นต้น

ในช่วงที่ประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังทรงปรนนิบัติพระองค์ จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย มีพระชนมพรรษา 48 พรรษา : พระมหากษัตริย์ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7)

ประวัติ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 พระบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ส่วนพระมารดาคือ หม่อมเจ้าอาภาพรรณี สวัสดิวัตน์ (ราชสกุลเดิม คัคณางค์) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังหม่อมเจ้าอาภาพรรณีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี

ข้อมูลขสก Rambai Barni , สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 Pantip.com , พลังจิต

บทความแนะนำ