หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงพระประชวรมาก ด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2483 แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ 48 พรรษา – พระมหากษัตริย์ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ –
พระมหากษัตริย์ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ
งานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) เป็นการจัดงานพระบรมศพในประเทศอังกฤษ เป็นพิธีภายในเงียบ ๆ ไม่มีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีพระสงฆ์ แต่ทางราชการอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน (ที่ประทับ) ได้ถึง 4 คืน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 คืนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกล มาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย
พระตำหนักคอมพ์ตัน
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ตอนหนึ่งว่า … “ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”…
รัชกาลที่ 7 ได้ทรงสั่งไว้ว่า
“ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง”..
ประเทศอังกฤษ ที่นั้นต่างบ้านต่างเมือง งานพระบรมศพจัดอย่างเรียบง่ายที่สุดตามพระประสงค์ ก่อนที่พระองค์จะสวรรคต คือ ไม่ต้องมีงานออกพระเมรุฯ ไม่ต้องมีพระโกศ ไม่ต้องมีราชรถ ไม่ต้องประโคมย่ำ ไม่ต้องมีพระสวด ไม่ต้องเครื่องยศ แล้วเผาให้ไวที่สุด ไม่ต้องร้องไห้
ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484
ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยัง สุสานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน
Wiki : Golders Green Crematorium
ขบวนแห่พระบรมศพแม้จะดูน้อย ..
แต่เมื่อเสด็จไปถึงสุสานโกลเดอร์สกรีน ได้มีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ฐานที่ตั้ง และผู้ที่ตามเสด็จเข้าประทับ และนั่งเก้าอี้แถวโดยลำดับแล้ว นายอาร์. ดี. เครก (R. D. Craig) ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย และเป็นพระสหายของ ร.7 ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นถวายความเคารพทีละคน มีคนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนาได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล และมีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น
Golders Green Crematorium
เจ้าหน้าที่กดปุ่มให้หีบพระบรมศพเคลื่อนที่ช้า ๆ หายเข้าไปในผนัง แล้วการถวายพระเพลิงด้วยเตาไฟฟ้าก็ได้เริ่มขึ้น
… หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์
อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 กลับไทย
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน แห่งเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สู่ท่าเรือเซาท์แทมป์ตัน
กระบวนเชิญหีบพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 ขึ้นสู่เรือวิลเลมรัยส์ เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงรับการถวายความเคารพโดยทหารกองเกียรติยศ กองทหารราบเบาซอมเมอร์เส็ท
โดยทางกองพระราชพิธี ได้จัดเตรียมโกศสำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรไว้ เมื่อพระบรมอัฐิมาถึงก็เปลี่ยนใส่ทันทีบนเรื่องพระที่นั่ง
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เรือภาณุรังสีอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 ถึงกรุงเทพฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินลงจากเรือ เจ้าพนักงานเชิญพระพุทธรูปประจำพระองค์อยู่เบื้องขวา
อัญเชิญหีบพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 ขึ้นสู่เรือรบหลวงแม่กลอง
พระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 บรรจุในพระโกศ ประดิษฐานในเรือรบหลวงแม่กลอง
กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จตามพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 ลงจากเรือรบหลวงแม่กลอง
พระราเชนทรรถเชิญพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
พระมหากษัตริย์ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ
สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และทรงสละราชสมบัติเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (นับศักราชแบบเก่า) รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี
เรียบเรียงโดย Campus-Star.com
อ่าน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) แบบละเอียด , พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ ระหว่าง พ.ศ. 2477-2492
ที่มา Prajadhipok , โบราณนานมา , Silpa-Mag.com , Stou.ac.th , Dr. Med. Watcharaphol Alexandre Kamnerdsiri , Golders Green Crematorium ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร