ข้อควรรู้ ทหาร ทหารกองเกิน ทหารไทย เกณฑ์ทหาร

ข้อควรรู้ การเกณฑ์ทหาร วิธีผ่อนผัน – รวม 10 คำถามยอดฮิตสำหรับชายไทย

Home / สาระความรู้ / ข้อควรรู้ การเกณฑ์ทหาร วิธีผ่อนผัน – รวม 10 คำถามยอดฮิตสำหรับชายไทย

มาถึงอีกปีแล้ว … สำหรับหน้าที่อันสำคัญของเหล่าชายไทยทุกคนที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารป็นเรื่องที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพราะกองทัพไทยจะฝึกฝนผู้เข้ารับราชการหารให้มีระเบียบ วินัย ฝึกหัดวิชาชีพเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากแก่ทหารเกณฑ์ทุกคน โดยปกติการเกณฑ์ทหารจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี (ปีละครั้ง) และชายไทยที่ถูกเลือกจะต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปีด้วยกัน อ่านบทความ การเกณฑ์ทหาร วิธีผ่อนผันของไทย

การเกณฑ์ทหาร วิธีผ่อนผัน

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร การผ่อนผัน และ 10 คำถามยอดฮิตสำหรับชายไทย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีข้อยกเว้นและผ่อนผัน สำหรับชายไทยคนใดที่ยังไม่พร้อมจะรับใช้ชาติ ซึ่งในข้อนี้สำหรับชายไทยคนไหนที่กำลังงงหรือไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะสามารถยื่นผ่อนผันได้ หรือไม่ทราบว่าตนเองสามารถยื่นผ่อนผันได้กี่ครั้ง ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาให้ทุกคนได้อ่านกันด้วย พร้อมทั้งยังมีคำถามยอดฮิตที่ทุกคนสงสัยมาบอกกันอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร มีดังนี้

1. การรับหมายเรียก (การรับหมายเกณฑ์) ทหารกองเกินทุกคน เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ใน พ.ศ.ใดก็ตาม ต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น

2. การเข้ารับการตรวจเลือก (การเข้าเกณฑ์ทหาร) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้วจะต้องไปเกณฑ์ทหารตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนดไว้ในหมายเรียก

3. การเข้ารับการเรียกพลของทหารกองหนุน ทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยรับราชการในกองประจำการจนครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อมีหมายเรียกพล (เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม) จะต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึก หรือทบทวนวิชาทหารให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อควรรู้ การเกณฑ์ทหาร พร้อมวิธีผ่อนผัน

สำหรับชายไทยคนไหนที่ไม่สามารถไปรับการเกณฑ์ทหารหรือต้องการที่จะทำการยื่นผ่อนผัน เนื่องจากอยู่ในระหว่างกำลังศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่นั้นก็สามารถทำได้ โดยมีขั้นตอดังต่อไปนี้

เรียนต่อในประเทศ…

การผ่อนผันเนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษา ภายในประเทศ

ต้องเป็นนิสิตหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ สถาบันการศึกษาของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จะผ่อนผันให้ศึกษาที่ไม่สูงกว่าระดับปริญญาโท และจนถึงอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์เท่านั้น แต่สำหรับการศึกษาภาคนอกเวลาหรือภาคสมทบ หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต้องมีผลการศึกษาสอบไล่ได้ภาคละไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต ทุกภาคติดต่อกัน โดยให้ผู้ที่ต้องการขอผ่อนผันดำเนินการดังนี้

1. ยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาที่ศึกษาอยู่

2. ไปเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อใช้สิทธิ์การผ่อนผันการตรวจเลือกทหารในวันตรวจเลือก

3. หลักฐานที่ใช้ประกอบในการขอผ่อนผัน ได้แก่ ใบสำคัญ ( แบบ สด.๙ ) , หมายเรียก ( แบบ สด.๓๕ ) , บัตรประจำตัวประชาชน

เรียนต่อต่างประเทศ…

การขอผ่อนผันการตรวจเลือกทหารเพื่อไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ

จะได้รับการผ่อนผันการตรวจเลือกทหารตามจำนวนปีที่ใช้การศึกษาตามหลักสูตร จนกว่าจะจบการศึกษา แล้วยกเว้นให้ไม่ต้องมาแสดงตนในวันตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร มีขั้นตอนการขอผ่อนผันดังนี้

1. ให้นักเรียนผู้ขอผ่อนผันหรือมอบอำนาจให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภูมิลำเนาทหาร

2. หลักฐานที่จะต้องนำไปยื่นคำร้องขอผ่อนผันทหาร ได้แก่

  • ใบสำคัญ (แบบ สด.๙)
  • หมายเรียก (แบบ สด.๓๕)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้ขอผ่อนผันของผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันแทน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หนังสือรับรองของสถานศึกษาพร้อมสำเนาคำแปลเป็นภาษาไทย
  • หนังสือรับรองของสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทย ณ ประเทศที่ไปศึกษา

ข้อควรรู้ การเกณฑ์ทหาร พร้อมวิธีผ่อนผัน

คำถามยอดฮิต การเกณฑ์ทหารของชายไทย

คำถามที่ 1 : วิธีนับอายุ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร นับอย่างไร?

คำตอบ : ถ้าเกิด พ.ศ.ใดให้ถือว่ามีอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์เมื่อสิ้น พ.ศ.ที่เกิดนั้น ส่วนการนับอายุต่อไปให้นับเฉพาะปีที่สิ้น พ.ศ.แล้ว เช่น คนเกิด พ.ศ.2522 จะเป็นวันเดือนใดก็ตาม ให้นับอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ เมื่อสิ้น พ.ศ.2522 และนับอายุครบ 2,3,4 ฯลฯ ปีบริบูรณ์ เรียงตามลำดับเมื่อสิ้น พ.ศ. นั้นๆ

คำถามที่ 2 : ถ้าบิดา-มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะต้องลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอใด?

คำตอบ : ผู้ที่บิดา-มารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น และบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ลงบัญชีที่มารดามีภูมิลำเนา ถ้ามารดาตายลงบัญชีที่อำเภอที่ผู้ปกครองมีภูมิลำเนนั้นแทน

คำถามที่ 3 : ถ้าไปรับหมายเรียกด้วยตนเองไม่ได้ จะให้บุคคลอื่นไปรับหมายเรียกแทนได้หรือไม่?

คำตอบ : ถ้าไปรับด้วยตนเองไม่ได้ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปรับแทนได้ โดยต้องมีการมอบฉันทะ แต่การจะให้รับหมายหรือไม่อยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอด้วย

คำถามที่ 4 : ถ้าไม่ไปรับหมายเรียกฯ ภายในกำหนด จะมีความผิดหรือไม่?

คำตอบ : ถ้าไม่ไปรับหมายเรียกฯ ภายในกำหนดหรือไม่มีผู้แทนไปรับ ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืนมีโทษเท่ากับไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกินข้างต้น (โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

คำถามที่ 5 : การขอยกเว้นครู ซึ่งทำการเรียนการสอนหนังสือหรือวิชาการที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง?

คำตอบ : มีเงื่อนไขดังนี้

– ต้องเป็นครูประจำทำการสอนนักเรียน นักศึกษาไม่น้อยกว่า 15 คนเป็นปกติ
– เป็นครูประจำเฉพาะวิชานักเรียน นักศึกษาไม่น้อยกว่า 15 คนเป็นปกติ
– มีเวลาสอนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 18 ชม. ในสถานศึกษาระดับมัธยมลงมาหรือไม่น้อยกว่า 15 ชม. ในสถานศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา

คำถามที่ 6 : ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจเลือกฯ ต้องนำหลักฐานอะไรไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ บ้าง?

คำตอบ : ให้ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจเลือกฯ นำใบสำคัญ (แบบ สด.๙), หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.๓๕) , บัตรประจำตัวประชาชน, ประกาศนียบัตร, หรือหลักฐานการศึกษาฯ ไปแสดงในวันตรวจเลือกด้วย

คำถามที่ 7 : ผู้ที่จะเป็นทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ต้องมีขนาดรูปร่างอย่างไร?

คำตอบ : ต้องมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซ็นติเมตรขึ้นไป ในเวลาหายใจออก และสูงตั้งแต่ 1 เมตร 46 เซ็นติเมตรขึ้นไป แต่ปกติจะคัดเลือกคนที่มีขนาดสูง 1 เมตร 60 เซ็นติเมตรขึ้นไปก่อน

คำถามที่ 8 : นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งได้แจ้งขอผ่อนผันการตรวจเลือกต่อสถาบันการศึกษาไว้แล้วนั้น จะต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือไม่?

คำตอบ : ผู้ที่ขอผ่อนผันประเภทนี้ จะต้องไปรับหมายเรียกฯ (แบบ สด.๓๕) และไปแสดงตนในวันตรวจเลือกด้วย หากปีใดมีคนส่งคนเข้าเป็นทหารพอก็จะได้รับสิทธิผ่อนผัน ไม่ต้องเป็นทหารเฉพาะปีนั้น สำหรับปีต่อๆ ไป ก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

คำถามที่ 9 : เมื่อพ้นจากฐานะผ่อนผัน (จบการศึกษาแล้ว) ต้องทำอย่างไร?

คำตอบ : ให้แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนอยู่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากฐานะเช่นนั้น

คำถามที่ 10 : นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยผ่อนผันให้กี่ปี?

คำตอบ : ผ่อนผันให้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาที่ไม่สูงกว่าชั้นปริญญาโทและผ่อนผันให้จนถึงอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่นักศึกษาแพทยศาสตร์ผ่อนผันให้ระหว่างที่ปฏิบัติงานเพื่อขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตฯ อีก 1 ปี

ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, engrdept

บทความที่น่าสนใจ