ในวันที่ 18 มกราคมของทุกปี ถือเป็นอีกวันสำคัญของไทย นั่นก็คือ วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกด้วย มาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวันสำคัญเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันเลย
วันกองทัพไทย 18 มกราคม
เราทุกคนต่างรู้จัก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กันเป็นอย่างดี ทั้งจากในหนังสือเรียน ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และยังรวมไปถึงจากคำบอกเล่าของคนในสมัยก่อน ที่ถูกเล่าต่อกันมาเรื่อยๆ ว่าท่านทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถมาก และยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย มีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ดังนั้นวันที่ 18 มกราคมของทุกปี รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็นนกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระโอรสองค์โตของพระสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี
ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่นั่น พระองค์ได้ศึกษาวิชาความรู้ ความสามารถต่างๆ ด้วยความหวังที่แรงกล้าว่าจะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ พระองค์จึงไม่อยากที่จะทำการใดๆ ในระหว่างที่พระเจ้าบุเรงนองยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ แต่พอภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรก็ได้กลับมายังพระนครกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง และด้วยความสามารถที่เป็นเลิศทางด้านการศึกของพระองค์ โดยเฉพาะการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทำให้พระองค์สามารถกู้บ้านเมืองคืนมาได้อีกครั้ง จนเป็นที่น่าเกรงขามของข้าศึก
ความหมายของคำว่า ยุทธหัตถี
เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์มาแต่โบราณกาล ถือเป็นความเชื่อมาแต่โบราณว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างนั้น เป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้นั้นจะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับความเก่งกล้า ว่องไว รวมถึงความชำนาญในการขับขี่ช้าง ดังนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด หรือแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบที่แท้จริง นอกจากนี้ในสมัยอยุธยามีการทำยุทธหัตถี รวม 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
ครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งพระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์
ครั้งที่ 2 ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี การทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นส่งผลให้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องสิ้นพระชนม์
ครั้งที่ 3 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล
บทบาทของกองทัพไทย
ซึ่งเป็นเหล่าทหารที่มีหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศมากมาย ล้วนแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศชาติ ดังนี้
1. การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สูงสุดและสำคัญสำหรับประชาชน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าทหารเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ เป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งแก่เหล่าทหาร กองทัพไทยจึงมีส่วนสำคัญในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในโอกาสวันเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาของทุกปี กองบัญชาการทหารสูดสุดได้จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ณ สวนสนามทหารรักษาพระองค์
2. การรักษาความมั่นคงภายในและการป้องกันประเทศ กองทัพไทยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข่าวสารกับทางราชการ และปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน และจัดทำแผนการป้องกันประเทศไว้สำหรับรับสถานการณ์จากภัยคุกคามทุกด้าน โดยจัดให้มีการฝึกกองทัพไทยทุกปี รวมถึงมีการจัดเตรียมกำลังรบพร้อมปฏิบัติการตามแผนตั้งแต่ยามปกติและยามคับขัน
3. การรักษาผลประโยชน์ของชาติ กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า รักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ช่วยแหลือผู้ประสบภัย และบรรเทาสาธารณภัย และยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้ สอดส่องดูแล รักษา ปกป้อง ทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย พร้อมทั้งส่งเสริมจัดกิจกรรมต่างขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีสำนึกที่ดี
4. ส่งเสริมการปกครอง กองทัพไทยมีความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนชาวไทยรักชาติ รักษาความมั่นคงความสงบสุขของสังคม โดยช่วยกันสอดส่องดูแล ให้ความรู้เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน ทั้งนี้กองทัพไทยยังป้องกันตามชายแดนเพื่อแก้ปัญหาการลำเลียงยาเสพติดที่เป็นภัยต่อประเทศชาติอีกด้วย
กิจกรรมที่ทำในวันกองทัพไทย
ทุกวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งกิจกรรมที่กระทำในวันกองทัพไทยคือพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลซึ่งถือเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารทุกๆ คนในกองทัพแห่งชาติทุกเหล่า
1. สวนสนามสาบานธง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารทุกคน เป็นกิจกรรมที่จะกระทำในวันกองทัพไทยคือ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่นิยมเรียกว่า “สวนสนามสาบานธง” ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีในวันกองทัพไทย และวันสำคัญของแต่ละเหล่าทัพ เพื่อให้ทหารใหม่ได้ทำพิธีสาบานธงและเดินสวนสนามเพื่อแสดงความเป็นทหารอย่างสมบูรณ์
2. วางพวงมาลา พิธีวางพวงมาลาเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมและเป็นการสักการะดวงวิญญาณนักรบไทย ซึ่งจะมีพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทางทหาร เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ฯลฯ
3. ทำบุญตักบาตร ในวันกองทัพไทย แม้จะไม่ตรงกับวันพระ อาจเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางกองทัพไทยได้ร่วมกันทำพิธีสงฆ์ ทำบุญ ตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล และเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรม บรรพบุรุษเหล่านักรบไทยและทหารผู้กล้า รวมถึงกษัตริย์นักรบอย่างพระนเรศวรมหาราช ที่ช่วยกอบกู้เอกราชและรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ ซึ่งอาจจะจัดให้มีพิธีสงฆ์หรือการทำบุญ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนี้
ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทยที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย จึงควรตระหนักและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการตั้งมั่นกระทำความดีแก่สังคมและประเทศชาติ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และที่สำคัญที่สุด คือ ความสามัคคี เมื่อคนไทยทุกคนมีความสามัคคี สังคมไทยของเราก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข ปราศจากความแตกแยกทั้งปวง เพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่านที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราได้อยู่จนมาถึงปัจจุบันนี้
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , http://www1.culture.go.th