วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญไทย
ประวัติความเป็นมา
สำหรับในประเทศไทย วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
โดยผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน ลักษณะสำคัญคือ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจาก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาล ก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐ ซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดมิได้
สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นวันชาติในขณะนั้น โดยความประสงค์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งการปกครองในยุคนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันในระยะต่อมาว่ามิได้เป็นวิธีการในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
สาเหตุ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย ด้วยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก และสร้างความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ ตามมาด้วยอิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร
ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไป จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเด และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
- พระมหากษัตริย์
- สภาผู้แทนราษฎร
- คณะกรรมการราษฎร
- ศาล
ลักษณะการปกครอง ถึงแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 19 ฉบับ
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุยายน – 10 ธันวาคม 2475)
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 (10 ธันวาคม 2475 – 9 พฤษภาคม 2489) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (9 พฤษภาคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (9 พฤศจิกายน 2490 – 23 มีนาคม 2492)
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (23 มีนาคม 2492 – 29 พฤศิกายน 2494) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (8 มีนาคม 2495 – 20 ตุลาคม 2501) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 (28 มกราคม 2502 – 20 มิถุนายน 2511)
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (20 มิถุนายน 2511 – 17 พฤศจิกายน 2514) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 (25 ธันวาคม 2515 – 7 ตุลาคม 2517)
10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (7 ตุลาคม 2517 – 6 ตุลาคม 2519) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 (22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520)
12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (9 พฤศจิกายน 2520 – 22 ธันวาคม 2521)
13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (22 ธันวาคม 2521 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.
14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 (1 มีนาคม – 9 ตุลาคม 2534)
15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (9 ธันวาคม 2534 – 11 ตุลาคม 2540) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชน (11 ตุลาคม 2540 – 19 กันยายน 2549) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.
17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม 2549 – 24 สิงหาคม 2550)
18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 – 22 กรกฎาคม 2557)
19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม 2557-ปัจจุบัน)
เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ยๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกัน
ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พานรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ)
ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ
ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ
ข้อมูลและภาพจาก : www.dmc.tv , www.lib.ru.ac.th , www.chiangraitimes.com , วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความแนะนำ
- ทิศต่างๆ แม่น้ำ ทวีปและภูมิภาค คำศัพท์ภาษาอังกฤษ
- 30 วันสำคัญของชาติไทย ที่เยาวชนไทยควรรู้ | วันสำคัญมีหลายระดับ
- อ่านสักนิดก่อนคิดจะไปทะเล ช่วงเวลาไหน เหมาะไปเที่ยวทะเลบ้าง
- รายชื่อ ประเพณีไทย ทั้ง 4 ภาค – เรียนรู้ประเพณีพื้นบ้านไทย
- คำศัพท์เกี่ยวกับ วันหยุด เทศกาล วันสำคัญต่างๆ ในภาษาอังกฤษ
- เวียนเทียนวันไหนบ้าง ? แต่ละปีเวียนเทียน 3 วัน คือ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา