สำหรับประเพณีการ “เวียนเทียน” นั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้บูชา และระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยกำหนดให้เดินวน 3 รอบ ในบริเวณวัด แต่ต้องเป็นส่วนสำคัญภายในวัด อาทิ โบสถ์ เจดีย์ โดยระหว่างเดินนั้นต้องถือดอกไม้ ธูปเทียน พร้อมกับสำรวมจิตใจให้สงบไปด้วย ซึ่งการเวียนเทียนนิยมทำกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่อไปนี้ คือ “มาฆ วิสา อาสา” อ่านบทความความรู้เกี่ยวกับ เวียนเทียนวันไหนบ้าง …
เวียนเทียนวันไหนบ้าง ?
เวียนเทียนวันไหนบ้าง คำตอบ ในแต่ละปีเราจะเวียนเทียนใน วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา
. . . . .
วันเข้าพรรษา วันออกพรรษาเวียนเทียนไหม ? ตอบ ไม่ได้เวียนเทียนในสองวันนี้ แต่จะเวียนเทียนในวันก่อนหน้าวันเข้าพรรษา 1 วัน นั่นคือวันอาสาฬหบูชา ส่วนในวันออกพรรษา จะมีการทำบุญ คือ บุญเทศกาลบาตรเทโว หรือ บาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
เวียนเทียน ภาษาอังกฤษ อธิบายได้ว่า The candlelight procession.
วันพระ ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Buddhist Holy Day” หรือ “Buddhist Sabbath Day” ก็ได้ค่ะ
- วันหยุด เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ
- คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา Buddhism| พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา มีความสำคัญคือเป็นวันที่พระสงฆ์ 1,250 รูป มารวมตัวกัน
1. วันมาฆบูชา Makha Bucha day
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่มีไว้เพื่อให้ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ แก่มหาสังฆสันนิบาต ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช) ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการได้แก่
1. พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตามแคว้นต่างๆ กลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
2. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ
4. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
วันมาฆบูชา จึงถือเป็น “วันพระธรรม” ดังนั้นจึงมีการเวียนเทียน เพื่อบูชาพระรัตนตรัย
อ่านเพิ่มเติม https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/4730.html
วันวิสาขบูชา มี 3 เหตุการณ์สำคัญ
2. วันวิสาขบูชา Visakha Puja Day
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ประมาณราวๆ เดือนพฤษภาคม แต่ถ้าหากตรงกับปีอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 ราวๆ เดือนมิถุนายน ความสำคัญของวันวิสาขบูชาคือ เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ทั้ง 3 เหตุการณ์เลย ไปดูกันว่าแต่ละเหตุการณ์มีอะไรเกิดขึ้น
ประสูติ : 1. เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
ตรัสรู้ : 2. เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ปรินิพพาน : 3. หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
วันอาสาฬหบูชา ความสำคัญคือเป็น วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
3. วันอาสาฬหบูชา Asalahabuja day
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือประมาณเดือนกรกฎาคมนั่นเอง สำหรับวันนี้มีความสำคัญเพราะเคยเกิดเหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนาโดยสรุปดังนี้ คือ
1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
2. เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
3. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
4. เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
เมื่อถึงวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ส่วนมากก็จะเป็นวันหยุดทางราชการด้วย น้องๆ อาจจะชวนครอบครัวเข้าวัดทำบุญ เวียนเทียน ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่จะทำให้ทุกคนในครอบครัวได้อยู่ด้วยนะคะ
จริงๆ แล้วยังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่เวียนเทียนด้วย แต่มีเพียงบางวัดเท่านั้น นั่นคือวันอัฏฐมีบูชา
** วันอัฏฐมีบูชา **
วันอัฏฐมีบูชา คือ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 7 นับถัดจาก วันวิสาขบูชาไป 7 วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมือง กุสินารา เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกวันหนึ่ง เหตุนั้น เมื่อถึงวันเช่นนี้ ทุก ๆ ปี พุทธบริษัทจึงนิยมทำการบูชาพิเศษอีกวันหนึ่ง และเรียกวันนี้ว่า วันอัฏฐมีบูชา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียงบางวัดเท่านั้นที่จัดพิธีบำเพ็ญกุศลในวันนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาล และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ
นอกเหนือจากวันสำคัญทั้งสี่ที่กล่าวไปข้างต้น ในบางวัด บางจังหวัด อาจมีการจัดพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องที่นั้น เช่น บางวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังนิยมจัดพิธีเวียนเทียนในวันออกพรรษาด้วย
ทำไม เวียนเทียนทางขวา ?
การเวียนเทียนนั้น มีทั้ง การเวียนขวาซึ่งเรียกว่า ทักษิณาวรรต (หรือ ประทักษิณ) และ การเวียนซ้ายซึ่งเรียกว่า อุตราวรรต แต่เป็น คติ ความเชื่อแต่โบราณว่าขวาเป็นมงคล ซ้ายเป็นอวมงคล
ดังนั้น จึงนิยมเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ต้องเวียนเทียนด้านขวา ก็เพราะทิศเบื้องขวาคือทิศ ครูบาอาจารย์ เราเวียนขวาก็เพื่อแสดงออกว่า เรายอมรับพระรัตนไตรเป็นที่ที่พึ่งที่ระลึกยอมรับพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ครู ของเรา เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้น ๆ อย่างสูงสุด
บทสวดระหว่างเดินเวียนเทียน
สวดบท “สวากขาโต” ระลึกถึงพระธรรมคุณ และสวดบท “สุปะฎิปันโน” ระลึกถึงพระสังฆคุณ หรืออาจจะสวดมนต์บท “พุทธาภิถุติ” (ในบททำวัตรเช้า) หรือบท “พุทธานุสสติ” และ “พุทธาภิคีติ” (ในบททำวัตรเย็น) เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ ในระหว่างเวียนเทียนก็ได้
…. “หากเดินเวียนเทียนโดยไม่ได้ระลึกเคารพถึงอะไรเลย ก็ไม่ต่างกับการเดินธรรมดา”
การเวียนเทียนทางซ้าย
การเวียนซ้าย (หรือ อุตราวรรต) นิยมใช้ในงานอวมงคล เช่น งานศพ การนำโลงศพเวียนซ้ายรอบจิตกาธานอันเป็นการลาลับโลกนี้ไป หรือใช้ในพิธีถอนในวิชาไสยศาสตร์
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ
เรื่องที่หลายคนสงสัย
วันอาสาฬหบูชาเวียนเทียนไหม? วันออกพรรษาเวียนเทียนไหม? วันเข้าพรรษาเวียนเทียนไหม? … แต่สำหรับพนักงานบริษัท มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ก็จะแตกต่างไป คือมักจะต้องนึกตลอดว่า วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดมั้ย วันออกพรรษาได้หยุดงานหรือเปล่า >.< 55
รูปภาพ: www.klongdigital.com , www.dhammajak.net , citcoms.nu.ac.th ข้อมูล : วิกิพีเดีย