เมื่อนึกถึงวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวัน ของชาวลูกเสือเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ นั่นเองจ้า วันนี้ campus-star.com ขอชวนชาวลูกเสือ-เนตรนารีทั้งหลาย มารู้จักประวัติความเป็นมาของวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งมารู้จักต้นกำเนิดของลูกเสือโลกกันดีกว่าจ้า พร้อมมารู้จักกับประเภทของลูกเสือ-เนตรนารีแต่ละประเภทว่ามีความแตกต่างกัน อย่างไร ….
วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 กรฏาคม
วันถือกำเนิด ‘ลูกเสือโลก’
การถือกำเนิดลูกเสือเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ.2451 โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) หรือ B-P มูลเหตุจูงใจที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นมาก็คือ ท่านไปรับราชการทหารโดยไปรักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer)
ในการผจญศึกใหญ่คราวนั้น ท่านได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่ง เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน รับใช้ในการงานต่างๆ เช่น ทำครัวเป็นต้น ปรากฎว่าได้ผลดีมาก เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฎิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้ อย่างเข้มแข็งว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่และบางอย่างกลับทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก
พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ บิดาแห่งลูกเสือโลก
เมื่อท่านกลับจากราชการสงครามเมืองมาฟฟิคิงแล้ว ท่านได้ร่างโครงการอบรมเด็กขึ้น มีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ท่านได้ทดลองตั้ง Boy Scout ขึ้นเป็นกองแรกที่เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island) โดยเกลี้ยกล่อมเด็กที่เที่ยวเตร่อยู่ในที่ต่างๆ มาอบรมแล้วท่านได้คอยคุมการฝึกตามโครงการด้วยตนเอง และได้ผลดีสมความมุ่งหมายทุกประการจึงทำให้เกิดความบันดาลใจ ในอันที่จะขยายกิจการให้กว้างขวางออกไปในวันข้างหน้า
พอถึงปี พ.ศ. 2455 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษเป็นทางการพร้อมกับออก กฎหมายคุ้มครองให้ด้วย จากนั้นการลูกเสืออังกฤษก็เจริญแพร่หายออกไปเป็นลำดับมา
คติพจน์ที่ท่านลอร์ดบาเดนเพาเวลล์ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)
คำว่า “Scout” ซึ่งใช้เรียกแทน “ลูกเสือ” มีความหมายตามตัวอักษร คือ
S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
ต้นกำเนิดของ ‘ลูกเสือไทย’
ลูกเสือกองแรกของไทยก่อตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเรียก เรียกว่า “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1” ก่อนที่จะขยายตัวไปจัดตั้งตามโรงเรียน และสถานที่ต่างๆ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานคติพจน์ เพื่อให้เด็กที่จะเข้าประจำการในกองลูกเสือได้ปฏิญาณตนว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”
ในสมัยนั้นกิจการลูกเสือไทยเลื่องลือไปยังนานาชาติว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง” ถึงกับทำให้กองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามนามลูกเสือกองนี้ว่า “กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ และลูกเสือกองนี้ได้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อทั้งสองข้าง และยังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
หลังจากทรงสถาปนากิจการลูกเสือขึ้นมาแล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ และตั้งสภากรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติขึ้นโดยพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก ต่อมาทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไปยังจังหวัดใดก็ตามก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือประจำจังหวัดนั้นๆ ให้ด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาแห่งการลูกเสือไทย
และหลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงฟื้นฟูกิจการลูกเสืออีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.2470 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณพระราชอุทยานสราญ รมย์ และจัดให้อบรมลูกเสือหลายรุ่น กระทั่งรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ.2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น กิจการลูกเสือจึงได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยยุวชนทหาร และรับเด็กที่เคยเป็นลูกเสือมาแล้ว มาฝึกวิชาทหาร ส่วนกิจการลูกเสือก็ขยายให้กว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดตั้งกองลูกเสือเหล่าเสนา และลูกเสือเหล่าสมุทรเสนาขึ้น เพื่อฝึกร่วมกับยุวชนทหาร ทำให้กิจการลูกเสือซบเซาลงบ้างในยุคนี้
ในปี พ.ศ.2490 กิจการลูกเสือกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากทางราชการได้จัดชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ และส่งเจ้าหน้าที่ในกองลูกเสือไปรับการฝึกอบรมวิชาลูกเสือตามมาตรฐานสากล และตามแบบนานาประเทศ กระทั่งมีมีพระราชบัญญัติลูกเสือบังคับใช้ โดยคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้บริหาร
วัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือได้รับการปรับปรุงและเน้นให้เห็นชัดเจนรัดกุม ยิ่งขึ้น มีความว่า “คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อความสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ”
การกำหนดวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ
เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทยให้พัฒนารุ่งเรือง มาจวบจนทุกวันนี้ ทางราชการจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ” หรือ “วันลูกเสือ”
โดยในวันนี้บรรดาลูกเสือไทยจะจัดกิจกรรมที่เป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน รวมทั้งนำพวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูปฯ สถานพระบรมราชานุสรณ์ และจัดให้มีการสวนสนามในโรงเรียน หรือสถานที่ต่างๆ เช่น ณ สนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ ที่ทุกๆ ปี จะมีเหล่าลูกเสือจำนวนกว่าหมื่นคนมาร่วมเดินสวนสนาม เพื่อแสดงความเคารพ และกล่าวทบทวนคำปฏิญาณต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง
กิจกรรมต่างๆ ที่มักจะปฏิบัติในวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ
1. ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านผู้ให้กำเนิดลูกเสือแห่งประเทศไทย
2. จัดนิทรรศการ เผยแผ่ ประวัติความเป็นมาของลูกเสือและผลงานต่างๆ
3. ร่วมกิจกรรมต่างๆในวันลูกเสือ เช่น การนำพวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูปฯ สถานพระบรมราชานุสรณ์ หรือที่ที่ทางราชการกำหนด
4. เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ
ประเภทของลูกเสือไทย มีดังนี้
1. ลูกเสือสำรอง : อายุ 8-11 ปี เทียบชั้นเรียน ป.1-ป.4 มีคติพจน์คือ ทำดีที่สุด (DO YOUR BEST)
2. ลูกเสือสามัญ : อายุ 12-13 ปี เทียบชั้นเรียน ป.5-ป.6 มีคติพจน์คือ จงเตรียมพร้อม (BE PREPARED)
3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : อายุ 15-17 ปี เทียบชั้นเรียน ม.1-ม.3 มีคติพจน์คือ มองไกล (LOOK WIDE)
4. ลูกเสือวิสามัญ : อายุ 17-23 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4-ม.6 มีคติพจน์คือ บริการ (SERVICE)
5. ลูกเสือชาวบ้าน : อายุ 15-18 ปี มีคติพจน์คือ เสียชีพอย่าเสียสัตย์
6. ส่วนผู้หญิงให้เรียกว่า “เนตรนารี” และแบ่งประเภทเหมือนลูกเสือ
คำปฏิญาณของลูกเสือ คือ “ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า”
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ
กฎของลูกเสือ มีทั้งหมด 10 ข้อ คือ
ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
ข้อ 6 ลูกเสือมีความเตตากรุณาต่อสัตว์
ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ
ราชสดุดีเพลงลูกเสือ
ข้าลูกเสือเชื้อไทยใจเคารพ ขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรงศรี พระบาทมงกุฎเกล้าฯ จอมเมาลี ทรงปรานีก่อเกื้อลูกเสือมา ทรงอุตส่าห์อบรมบ่มนิสัย ให้มีใจรักชาติศาสนา ทรงสั่งสอนสรรพกิจวิทยา เป็นอาภาผ่องพุทธิ์วุฒิไกร ดังดวงจันทราทิตย์ประสิทธิ์แสง กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน ดวงหทัยทวยราษฎร์ไม่คลาดเอย
ข้อมูลจาก www.lib.ru.ac.th/, th.wikipedia.org/wiki/การลูกเสือ , th.wikipedia.org/wiki/วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ , www.lib.ru.ac.th/journal/jul/jul01-BoyScout.html , www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4491.html , irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/Datebook/1%20July/1%20July.htm , www.scoutthailand.org/index.php?option=com_content&view=article&id=60&Itemid=77
ภาพจาก www.setsatian.ac.th/dress.html , tanapat_bandon.:-)/index.php , sites.google.com