ทางหลวง เกร็ดความรู้

รู้หรือไม่? การอ่านหมายเลขทางหลวง ต้องอ่านอย่างไร

Home / สาระความรู้ / รู้หรือไม่? การอ่านหมายเลขทางหลวง ต้องอ่านอย่างไร

ทางหลวง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549) หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟ

การอ่านหมายเลขทางหลวง ความหมายแต่ละเลข

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ทางหลวง ยังหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย

แต่เดิมทีทางหลวงสายสำคัญ ๆ ปกติใช้ชื่อสกุลของบุคคลที่มีความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับทางสายนั้น ๆ เช่น เป็นผู้บุกเบิก ผู้ก่อสร้าง มาตั้งเป็นชื่อถนน แต่เมื่อมีการสร้างทางมากขึ้น การใช้ชื่อสกุลมีความยุ่งยากและสับสน ทั้งไม่สามารถทราบได้ว่าทางสายนั้นอยู่ทางบริเวณภาคใดของประเทศ จึงได้มีการนำระบบหมายเลขมาใช้กำกับทางหลวงต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงสัมปทาน และทางหลวงพิเศษ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

ทางหลวงที่มีเลขหนึ่งตัว

หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ได้แก่

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ หรือ ถนนพหลโยธิน เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคเหนือ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือ ถนนมิตรภาพ เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งต้นที่จังหวัดสระบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย
– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ หรือ ถนนสุขุมวิท เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่จังหวัดทางภาคกลางรวมถึงชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงราย
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจันทบุรี
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ เป็นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ

ทางหลวงที่มีเลขสองตัว

คือ ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษที่เป็นสายประธานตามภาคต่าง ๆ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายอุดรธานี-นครพนม ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕๑ หมายถึง ทางหลวงซึ่งเชื่อมต่อจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี

ทางหลวงที่มีเลขสามตัว

คือ ทางหลวงแผ่นดินสายรอง เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายชัยภูมิ-เขมราฐ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคกลางสายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา

ทางหลวงที่มีเลขสี่ตัว

คือ ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น เช่น ทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๖ หมายถึง ทางหลวงในภาคใต้สายแยกทางหลวงหมายเลข ๔ (ราชกรูด-หลังสวน)

ในการอ่านหมายเลขทางหลวงให้อ่านเรียงตัว ดังนี้

หมายเลขทางหลวง ๒๑ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง สอง-หฺนึ่ง

หมายเลขทางหลวง ๓๑๔ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง สาม-หฺนึ่ง-สี่

อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา Office of the Royal Society

ภาพจาก :  th.wikipedia.org /User:Watcharakorn, @jakobowens1

บทความแนะนำ