ภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เกร็ดความรู้

ความรู้เกี่ยวกับภาษี – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใครต้องเสียและต้องทำอย่างไร?

Home / สาระความรู้ / ความรู้เกี่ยวกับภาษี – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใครต้องเสียและต้องทำอย่างไร?

ความรู้เกี่ยวกับภาษี ในบทความนี้ เกี่ยวกับเรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด มาอ่านรายละเอียด และวิธีการเสียภาษีประเภทนี้กันว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ความรู้เกี่ยวกับภาษี – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา….. คือ

ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระและเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ?

ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

1) บุคคลธรรมดา

2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องทำอะไรบ้าง ?

1. ขอมีเลข และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น กรณีเป็นผู้มีเงินได้ ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
เว้นแต่ ผู้มีเงินได้ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน สามารถใช้ เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก
ผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนา อยู่ในกรุงเทพมหานคร อาจยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 30 แห่ง หรือ สำนักสรรพากรพื้นที่ สาขา(อำเภอ)ทุกแห่ง
สำหรับในต่างจังหวัด ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากร พื้นที่ (จังหวัด) และสำนักงานสรรพากร พื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง แล้วแต่กรณี

2. ยื่นแบบแสดงรายการ ปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ ของปีใด ก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่ เงินได้ บางลักษณะ เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จาก วิชาชีพอิสระ เงินได้จาก การรับเหมา เงินได ้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายใน เดือนกันยายน ของทุกปี

ภาพ: @sharonmccutcheon

เงินได้ อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี?

ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่

1. เงิน ที่ได้รับจริง (เกณฑ์เงินสด)
2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง(เกณฑ์เงินสด)
3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง(เกณฑ์เงินสด)
4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นในระหว่างปีภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกกรณีหรือไม่?

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้
เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

(1) บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้

  • เงินเดือนเพียงอย่างเดียว โสด 120,000 / สมรส 220,000
  • เงินได้ประเภทอื่น โสด 60,000 / สมรส 120,000

(2) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

(3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

เงินได้อันเป็นเหตุให้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมาจากแหล่งใดบ้าง?

แหล่งที่มาของเงินได้ ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศและนอกประเทศ เงินได้จากแหล่งต่างๆ นี้จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ให้พิจารณา ดังนี้

1. เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี

1.1 หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
1.2 กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
1.3 กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
1.4 ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ
* เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากร กำหนดไว้เสมอเว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม)

2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี

2.1 หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

* เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
(2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน* หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย

ภาพ: @rupixen

ในการเสียภาษีจะต้องคำนวณภาษีอย่างไร?

เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้ (พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้

1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

– เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
– เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
– เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
– เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
– เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น

2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น

– ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
– เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
– เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
– เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
– เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
– เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

3. เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้นเงินได้ประเภทที่ 4 ในหลาย ๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้ อ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียด >> คลิกอ่าน

5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก
– การให้เช่าทรัพย์สิน
– การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
– การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว

6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

หากยื่นแบบแล้วมีภาษีต้องชำระจะขอผ่อนชำระภาษีได้หรือไม่ ?

ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ ขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ผู้เสียภาษีอาจติดต่อขอผ่อนชำระได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาโดยใช้แบบบ.ช. 35 จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกันดังนี้

งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม

งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1

งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็น รายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

ภาพ:  The New York Public Library @nypl

ถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลาหรือชำระไม่ถูกต้องจะมีความรับผิดอย่างไรบ้าง?

เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอย่างหนึ่ง และอาจมีโทษทางอาญาด้วย แล้วแต่ความผิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงขั้นไหน โดยหากบุคคลใดยื่นแบบฯ ภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบฯ ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษ ดังนี้

1. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

2. กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

3. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

4. กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้อื่น ๆ

– วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีจะต้องทำอย่างไร? คลิกอ่าน 

– ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง? คลิกอ่าน 

– ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง? คลิกอ่าน 

– ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร และเมื่อใด? คลิกอ่าน

– ยื่นแบบแสดงรายการได้ที่ไหน? คลิกอ่าน

– การชำระภาษีด้วยวิธีใดบ้าง ? คลิกอ่าน

– บัญชีอัตราภาษี คลิกอ่าน

– การบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง? คลิกอ่าน

– การขอคืนเงินภาษีอากร คลิกอ่าน

– ข้อคิดสะกิดใจการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90,91 คลิกอ่าน

– ยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต คลิกที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก: rd.go.th

บทความอื่น ๆ