กรุงเทพฯ สะพาน แม่น้ำเจ้าพระยา

12 สะพานในกรุงเทพฯ ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

Home / สาระความรู้ / 12 สะพานในกรุงเทพฯ ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาสำคัญของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนเขตกรุงเทพมหานครด้วย เรียกได้ว่ามีความสำคัญ และมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านเลยนะคะ ทั้งใช้ในเรื่องของอุปโภคบริโภค ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในการขนส่งสินค้า วันนี้แคมปัส-สตาร์ ขอนำ เกร็ดความรูู้เรื่องสะพานมาฝากน้องๆ กันค่ะ รู้มั้ยว่าในกรุงเทพฯ มีสะพานอะไรบ้างที่ข้าม แม่น้ำเจ้าพระยา?

12 สะพานในกรุงเทพฯ ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

1.สะพานกาญจนาภิเษก

สะพานกาญจนาภิเษก

1.สะพานกาญจนาภิเษก (Kanchanaphisek Bridge) เปิดบริการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ช่วงทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์)

ลักษณะการก่อสร้างเป็นสะพานขึงระนาบคู่ขนาด 6 ช่องจราจร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างท้องที่ตำบลบางจาก (เขตเทศบาลเมืองลัดหลวง) กับตำบลบางหัวเสือ (เขตเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 52 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าสามารถเข้าออกได้ ตัวสะพานมีความยาวช่วงกลางแม่น้ำ 500 เมตร ซึ่งถือว่าเป็น “สะพานขึง” ที่มีช่วงกลางแม่น้ำยาวที่สุดในประเทศไทย และถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2.สะพานภูมิพล 1

Bhumibol_Bridge_1+2panorama
สะพานภูมิพล 1 (ขวา) และสะพานภูมิพล 2 (ซ้าย) ขวามือเป็น ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

2.สะพานภูมิพล 1 (Bhumibol Bridge) : สะพานภูมิพล หรือเดิม สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนกาญจนาภิเษก ลักษณะเป็นสะพานขึง (เป็นการสร้างสะพานขึงเคเบิลคู่ ที่สร้างเร็วที่สุดในโลก และใหญ่ที่สุดในเอเชีย) ขนาด 7 ช่องการจราจร

ทางด้านเหนือหรือ “สะพานภูมิพล 1” เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทางด้านใต้หรือ “สะพานภูมิพล 2” เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนองกับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 แต่ก่อนหน้านั้นได้เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549

สะพานภูมิพล 1 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ขนาดกว้าง 7 ช่องจราจร ที่ประกอบด้วยเสาสูง จำนวน 2 ต้น ความยาวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 326 เมตร เป็นโครงสร้างประกอบระหว่างคอนกรีต และเหล็ก และความยาวตัวสะพานในช่วงด้านหลัง 128 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพานประมาณ 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าสามารถแล่นลอดได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : สะพานภูมิพล หรือ สะพานของพ่อ สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างเอาไว้ให้ประชาชน

3.สะพานพระราม 9 หรือ สะพานขึง

Rama IX Bridge

3.สะพานพระราม 9 ( Rama IX Bridge) หรือ สะพานขึง : เป็นสะพานเสาขึงระนาบเดี่ยวแห่งแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อสะพานพระราม 9 เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ปี พ.ศ. 2530 ราคาค่าก่อสร้าง : 1,418,100,000 บาท

สะพานพระราม 9 เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็นสะพานชนิด Single Plane Fan Type Cable-Stayed Bridge หรือสะพานขึงโดยใช้สายเคเบิลขนาดใหญ่ขึงเป็นระนาบเดี่ยวไว้กับเสาสูงของสะพานเพื่อรับ น้ำหนักของสะพาน เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530

4. สะพานกรุงเทพ

Krung Thep Bridge

4. สะพานกรุงเทพ (Krung Thep Bridge) ; สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 3 ต่อจากสะพานพระราม 6 และสะพานพระพุทธยอดฟ้า เริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ถือเป็นสะพานโยกเพียงแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังเปิด-ปิดได้อยู่ ราคาค่าก่อสร้าง : 31,912,500.00 บาท

เชื่อมระหว่างบริเวณสี่แยกถนนตก เขตบางคอแหลมทางฝั่งพระนคร กับบริเวณสี่แยกบุคคโลในพื้นที่เขตธนบุรีทางฝั่งธนบุรี ใช้ในการคมนาคมทางบกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและปิด-เปิด ให้เรือเข้าออก ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบคอนกรีตอัดแรง โดยวิธีการอิสระซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย มีช่องทางจราจร 4 ช่อง ความยาวสะพาน 350.80 เมตร ช่วงกลางน้ำยาว 226 เมตร

ปัจจุบัน สะพานยังเปิด-ปิดเพื่อให้เรือสินค้าที่แล่นเข้าออกเป็นประจำผ่าน แต่เมื่อมีการเปิด-ปิดสะพาน ก็ต้องมีการปิดการจราจร ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นอันมาก อีกทั้งเป็นสะพานที่อายุกว่า 50 ปี ทำให้มีปัญหาด้านกลไกเปิด-ปิดสะพานอยู่บ่อยครั้ง รัฐบาลจึงทุ่มงบสร้างสะพานที่สูงพอให้เรือสินค้าแล่นผ่านได้เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร สะพานนั้นคือ สะพานพระราม 3

5. สะพานพระราม 3

Rama III Bridge
สะพานพระราม 3‎ (ด้านขวา) คู่ขนานไปกับสะพานกรุงเทพ

5. สะพานพระราม 3 (Rama III Bridge) : เริ่มก่อสร้าง วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เปิดการจราจรครั้งแรก วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ราคาค่าก่อสร้าง งบประมาณแผ่นดิน 411,489,540 บาท และจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น (OECF) 2,481,181,265 เยน

สะพานพระราม 3 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เขตธนบุรี กับถนนเจริญกรุงและถนนพระรามที่ 3 เขตบางคอแหลม สร้างขนานกับสะพานกรุงเทพ (จึงมีชื่อเรียกกันติดปากว่า สะพานกรุงเทพ 2) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร เนื่องจากสะพานกรุงเทพยังคงต้องเปิด-ปิดสะพานอยู่ จึงต้องสร้างสะพานพระราม 3 ให้สูง เพื่อให้เรือสินค้าแล่นผ่านได้

นอกจากนี้แล้ว สะพานพระราม 3 ยังเป็นสะพานแบบอสมมาตรที่สูงเป็นอันดับ 5 ของโลกด้วย และเหตุที่สะพานมีระดับสูงและช่วงทางลงยาวมาก ทำให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และล่าสุดมีรถชนกันต่อเป็นทอด ๆ ถึง 21 คัน ก่อนหน้านั้นเคยมีรถพ่วงเบรกแตกและชนต่อ ๆ กันแบบนี้มาแล้วด้วย นอกจากนั้นในทางลงด้านถนนเจริญกรุงก็ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นทางลาดชัน จึงเกิดเหตุรถพุ่งเข้าชนบ้านที่อยู่ตรงทางลง ทำให้ต้องมีการสร้างแผงปูนขึ้นกั้นบริเวณบ้านที่อยู่ทางลงด้านนี้

6.สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สะพานสาทร

King Taksin Bridge

6.สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ( King Taksin Bridge) หรือ สะพานสาทร : เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 เปิดการจราจรให้ใช้วันแรก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ราคาค่าก่อสร้าง : 619,994,537.00 บาท

สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นสะพานชนิดต่อเนื่อง สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสาทร (เขตสาทร-เขตบางรัก) กับถนนกรุงธนบุรี (เขตคลองสาน) เป็นสะพานคู่แยกขาเข้า-ขาออก และเว้นเนื้อที่ระหว่างสะพานไว้เผื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนอื่น โดยปัจจุบัน พื้นที่ระหว่างสะพาน เป็นรางรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม และพื้นที่ในฝั่งพระนครยังเป็นที่ตั้งของสถานีสะพานตากสินอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนตั้งอยู่ปลายสะพานทางฝั่งพระนครซึ่งในช่วงเวลาเช้าจะมีผู้ปกครองจอดรถเพื่อส่งเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานาน เป็นที่มาส่วนหนึ่งของการจราจรที่ติดขัด

7.สะพานพระปกเกล้า (Phra Pok Klao Bridge)

สะพานพระปกเกล้า

ภาพ:: www.chaoprayanews.com

วันที่ทำการก่อสร้าง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 เปิดการจราจร 3 ธันวาคม พ.ศ. 2527 ราคาค่าก่อสร้าง 475,000,000.00 บาท

เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เชื่อมระหว่างถนนจักรเพชร ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับถนนประชาธิปก ในพื้นที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี เป็นสะพานคู่ขาไปและขากลับ สร้างเคียงข้างขนานกันกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า

เนื่องจากการจราจรบริเวณนั้นถึงจุดวิกฤต รัฐบาลจึงเห็นว่าควรมีสะพานอีกแห่งหนึ่งเพื่อช่วยระบายการจราจร โดยได้เว้นที่ช่วงกลางสะพานไว้สำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินด้วย ปัจจุบันสะพานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

8. สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์

Phra Phuttha Yodfa Bridge, Memorial Bridge

8. สะพานพระพุทธยอดฟ้า (Phra Phuttha Yodfa Bridge, Memorial Bridge) หรือ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ : 

สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมการคมนาคมติดต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ที่ปลายถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กับปลายถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี ปัจจุบันสะพานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

ในปัจจุบัน นอกจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะเป็นที่ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นลานกีฬาของเด็กนักเรียนในย่านนั้นด้วย ทั้งฟุตบอลและสเกตบอร์ด ก็จะมีให้เห็นทุกวันในช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก

นอกจากนี้ ในยามค่ำคืนพื้นที่ใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้าจนถึงใต้สะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ในยามค่ำประมาณ 18 นาฬิกาเป็นต้นไปจนถึงเวลา 01.00 โดยประมาณ จะเป็นตลาดนัดยามค่ำคืน ที่มีสินค้าแฟชั่นหลากหลายทั้งอุปกรณ์ตกแต่งมือถือเคส ฟิล์ม ซีดีและสินค้ามือสอง อาทิ เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ อีกทั้งยังมีศิลปินอิสระ ส่วนมากเป็นนักศึกษาเพาะช่าง มารับวาดภาพและขายภาพวาดด้วย เนื่องจากสินค้ามีราคาถูก ประกอบกับรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ทำให้ตลาดสะพานพุทธในปัจจุบันคลาคล่ำด้วยวัยรุ่นจำนวนมาก

9.สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือ สะพานปิ่นเกล้า

Somdet Phra Pinklao Bridg

9.สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (Somdet Phra Pinklao Bridge) หรือ สะพานปิ่นเกล้า : เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2514 และสร้างเสร็จทำพิธีเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2516 โดยได้รับพระราชทานนามว่า “สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพื้นที่ของสะพานทางฝั่งพระนครนั้นเคยเป็นเขตของพระราชวังบวรสถานมงคล

สะพานปิ่นเกล้า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับเขตบางกอกน้อย (ฝั่งธนบุรี) กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท มีจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทางจราจร ความกว้างของสะพาน 26.60 เมตร ความยาว 622 เมตร สร้างขึ้นเพื่อผ่อนคลายความคับคั่งของการจราจร โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ในการสำรวจออกแบบสะพาน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลไทย ให้เงินกู้สมทบกับเงินงบประมาณของรัฐบาลไทย โดยมีราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด 117,631,024.98 บาท

10. สะพานพระราม 8

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

10. สะพานพระราม 8 ( Rama VIII Bridge) : สะพานนี้เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พระองค์มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ารองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ

สะพานพระราม 8 จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธน อีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เวลา 7:00 น.

สะพานพระราม 8 เป็น สะพานขึงแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิชัยพัฒนาในปัจจุบัน) เขตบางพลัด บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

11. สะพานกรุงธน หรือ สะพานซังฮี้

Krung Thon Bridge

11. สะพานกรุงธน (Krung Thon Bridge) หรือ สะพานซังฮี้ : เริ่มก่อสร้างเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2501 ราคาค่าก่อสร้าง : 24,837,500.00 บาท

สะพานกรุงธน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนราชวิถี เชื่อมระหว่างแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กับแขวงบางพลัดและแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมแก่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแบ่งเบาความคับคั่งของสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานกรุงธน ที่มาของชื่อ สะพานซังฮี้ มาจากสะพานนี้เริ่มต้นที่ถนนราชวิถีหรือถนนซังฮี้ และขณะที่เริ่มก่อสร้างประชาชนเรียกสะพานนี้ว่า “สะพานซังฮี้” จึงเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

12. สะพานพระราม 6

Rama VI Bridge
สะพานพระราม 6 พ.ศ. 2551

12. สะพานพระราม 6 (Rama VI Bridge) : เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศไทย เชื่อมระหว่างแขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กับแขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

เริ่มการก่อสร้างเมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2465 สร้างเสร็จในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2469 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าสะพานพระราม 6 และโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเปิดสะพานให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้รถจักรไอน้ำ ” บอลด์วิน ” ล้อแบบแปซิฟิก หมายเลข 226 ทำขบวนเสด็จ ทั้งนี้ สะพาน มีค่าก่อสร้าง 2,714,113.30 บาท

13.ทางพิเศษศรีรัช หรือ ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนในเมือง)

เป็นทางพิเศษในกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างและเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2536 มีระยะทางรวม 38.4 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษที่แบ่งเบาการจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร และเพิ่มประสิทธิภาพของทางพิเศษในกรุงเทพมหานครให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังมีอีก 2 ที่กำลังก่อสร้างอยู่คือ อุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และ สะพานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

อ้างอิงข้อมูลจาก :: th.wikipedia.org

บทความเกี่ยวกับการประหารชีวิต