ธนบัตร ป้อมวิไชยประสิทธิ์ พระราชวัง พระราชวังเดิม ราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แม่น้ำเจ้าพระยา

3 สถานที่สำคัญที่ปรากฎในแบงค์ 100 (รุ่นเก่า) – พระราชวังเดิม

Home / สาระความรู้ / 3 สถานที่สำคัญที่ปรากฎในแบงค์ 100 (รุ่นเก่า) – พระราชวังเดิม

ในโอกาสพิเศษ วันสถาปนาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร พระราชวังเดิมจึงเปิดให้เข้าชมฟรี ฉลองครบรอบ 250 ปี กรุงธนบุรี วันที่ 15-28 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้า (โดยปกติการเข้าชมพระราชวังเดิม ต้องทำเรื่องล่วงหน้า และเปิดให้ชมฟรีปีละ 1 วันเท่านั้น)

พระราชวังเดิม เที่ยวชม 3 สถานที่สำคัญที่ปรากฎในแบงค์ 100

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงแห่งเดียว ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  : สำหรับโบราณสถานพระราชวังเดิม ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักเก๋งคู่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , พระตำหนักสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งได้รับการบูรณะ ครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2545 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2545

ภาพด้านล่าง ซ้าย : ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และภาพขวามือคือ ตำแหนักเก๋งคู่หลังเล็ก

ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก

อาคารหลังนี้รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงโดยเฉพาะประตูหน้าต่าง เพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้ซ่อมแซมและดัดแปลงในช่วง พ.ศ.2367 – 2394 พร้อมกับให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ ในรูปแบบที่สอดคล้องกับอาคารหลังนี้

ปัจจุบันอาคารนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ทางด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

3 สถานที่สำคัญที่ปรากฎในธนบัตร 100 (รุ่นเก่า)

หยิบแบงค์ 100 (รุ่นเก่า) ขึ้นมานะคะ ภาพที่เราเห็นชินตาในแบงค์รุ่นนี้ พอเราไปเห็นสถานที่จริง ก็ตื่นเต้นไม่น้อย

3 สถานที่สำคัญที่ปรากฎในแบงค์ 100 (รุ่นเก่า) - พระราชวังเดิม

1. ท้องพระโรง

อาคารท้องพระโรง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2311 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาคารนี้มีรูปทรงแบบไทยประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง หรือวินิจฉัยอยู่ทางทิศเหนือใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี

ปัจจุบัน กองทัพเรือได้ใช้โถงท้องพระโรงภายในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เป็นสถานที่ที่จัดงาน และประกอบพิธีสำคัญเป็นประจำ ส่วนพระที่นั่งขวางได้ใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญ และเป็นห้องประชุมในบางโอกาส

2. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

3. ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมนี้เดิมชื่อ “ป้อมวิไชยเยนทร์ ” หรือ “ป้อมบางกอก” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างขึ้น พร้อมป้อมทางฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ และติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ

เที่ยวชมพื้นที่ภายใน พระราชวังเดิม

พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี) ภายหลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ.2310 พระองค์ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ แทนกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม จนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้

การที่ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังไพร่พลที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ อยู่ใกล้ทะเลทำให้สามารถควบคุม เส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดี และตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำหากเพลี่ยงพล้ำก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวก

หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์)

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ศาลเจ้าตาก)

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ศาลเจ้าตาก) หลังปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2424 – 2443 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาคารเก๋งคู่ตั้งประชิดกำแพง ด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง

ภายในศาลหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบ

พระตำหนักสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น เมื่อครั้งยังทรงดำรง พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2367 – 2394 แต่หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกได้ทรงย้ายไปประทับ ณ พระบวรราชวัง อาคารหลังนี้จึงได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

ตัวอาคารมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก หรือเรียกว่า “ตึกแบบอเมริกัน” และถือได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกหลังแรกๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ด้านหลัง ท้องพระโรง

ตึกกองบัญชาการกองทัพเรือ

ภาพด้านล่าง .. จากจุดนี้ที่มองไปเห็นคนยืนกันเยอะๆ คือจุดที่จะถ่ายภาพอาคารร้องพระโรง อาคารที่ปรากฎในแบงค์ 100 ค่ะ

เกี่ยวกับอาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้น

อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้น มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมา จนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม(คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด(วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวังต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ทรงสร้างพระบรม มหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้รับการเรียกขานว่า “พระราชวังเดิม” นับแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดเขตของพระราชวังกรุงธนบุรีให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองอยู่ภายนอกพระราชวัง รวมทั้งให้รื้อตำหนักแดง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระราชวังเดิม ไปปลูกสร้างให้ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นสูง ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย มาประทับที่ พระราชวังเดิม เนื่องจากพระราชวังเดิมและกรุงธนบุรีมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลรักษา

ประตูทางเข้า พระราชวังเดิม

ศาลศรีษะปลาวาฬ

ศาลศรีษะปลาวาฬ

ในระหว่างการขุดสำรวจครั้งล่าสุด ได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณพื้นที่ที่อยู่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางเอกสารประกอบแล้วสันนิษฐานว่า เป็นซากของอาคารศาลศีรษะปลาวาฬเดิม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแ ละได้พังลงในคืนวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2443 ซึ่งเป็นคืนที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์

รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังเดิมของศาลปลาวาฬ ตามที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็น อาคารโถงแบบจีน ส่วนศาลศีรษะปลาวาฬหลังปัจจุบันทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้ปรึกษากับกรมศิลปากร และเห็นชอบให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่ได้ขุดพบเพื่อใช้เป็นที่ จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬ (ที่ได้พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในคราวสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดีในช่วงการบูรณะครั้งล่าสุด) รูปแบบของอาคารหลังปัจจุบันได้ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับอาคารโบราณสถานโดยรอบโดยยังคงรูปแบบเป็นเก๋งจีน

พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีพระราชสมภพที่นี่ 3 พระองค์

พระราชวังเดิม ยังเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ ทรงมีพระราชสมภพ ซึ่งทุกพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

แม่น้ำเจ้าพระยา

นักท่องเที่ยวชาวจีนกำลังนั่งเรือมาปล่อยปลา

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ปัจจุบันที่นี่อยู่ในความดูแลของ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม และ กองบัญชาการกองทัพเรือ

การติดต่อขอเข้าชม

โดยปกติการเยี่ยมชมจะต้องเข้าเที่ยวชมเป็นหมู่คณะ และทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 1 -2 สัปดาห์ มีค่าธรรมเนียมบำรุงโบราณสถานภายพระราชวังเดิม ผู้ใหญ่ 100.-เด็ก 60.- บาท

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม หรือโทรศัพท์ 0 2475 4117, 0 2466 9355 และ 0 2472 7291

ที่ตั้ง กองบัญชาการกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

การเดินทางไป พระราชวังเดิม

– รถโดยสารประจำทาง สายที่ผ่าน 40 56 57 149 177 710

– ทางเรือ : ลงท่าวัดอรุณ (Wat Arun Pier) โดยเรือโดยสารข้ามฟากมาจากท่าเตียน มายังท่าวัดอรุณราชวราราม (ท่ายายเผือก) ค่าโดยสารท่านละ 4 บาท

– รถส่วนตัว วันเสาร์-อาทิตย์ สามารถจอดภายในบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ วันธรรมดาจอดบริเวณวัดใกล้เคียง

เว็บไซต์ www.wangdermpalace.org , Facebook : มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม

**ขอความร่วมมือประชาชนให้แต่งกายสุภาพ งดสวมรองเท้าแตะ กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น**

สถานที่แนะนำเพิ่มเติมให้ไปเที่ยวชม : วัดอรุณราชวราราม , วัดโมลีโลกยาราม และอื่นๆ www.wangdermpalace.org