พายุ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน ภัยพิบัติ วาตภัย วิธีเอาตัวรอด

พายุไต้ฝุ่น | วิธีเอาตัวรอด เมื่อเราเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิน วาตภัย (ภัยพิบัติจากธรรมชาติ)

Home / สาระความรู้ / พายุไต้ฝุ่น | วิธีเอาตัวรอด เมื่อเราเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิน วาตภัย (ภัยพิบัติจากธรรมชาติ)

วาตภัย หมายถึง ภัยหรืออันตรายที่เกิดจากลมพายุพัดผ่านในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งแรงของพายุนอกจากจะทำให้สิ่งของต่าง ๆ ที่ขวางเส้นทางของพายุพังล้มระเนระนาดได้แล้ว ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตของเราได้อีกด้วย โดยที่หลังจากการเกิดวาตภัยแล้ว ก็จะเกิดเป็นอุทกภัยตามมาเสมอ – พายุไต้ฝุ่น

เตรียมตัวให้พร้อม รับมือกับ “วาตภัย” – พายุไต้ฝุ่น

ทั้งนี้ความเสียหายของสิ่งของหรืออันตรายต่อมนุษย์นั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับชนิดของพายุที่มีความแรงหรือความเร็วสูงสุดในบริเวณศูนย์กลางที่แตกต่างกันออกไป…

ประเภทของพายุ ที่เราควรรู้

ประเภทของพายุ ที่เราควรรู้

ลมพายุชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดวาตภัยมีหลายชนิดเ้วยกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. พายุหมุนเขตร้อน

สำหรับพายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุที่หมุนและมีฝนตกอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน กระจายไปเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ระบบการหมุนเวียนของกระแสลมจะพัดจากทุกทิศทุกทางเวียนกันเป็นรูปก้อนห้อย เข้าหาศูนย์กลาง มีความกดอากาศต่ำ โดยในซีกโลกเหนือจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา และในซีกใต้จะพัดตามเข็มนาฬิกา พายุหมุนเขตร้อนนี้มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในเขตร้อน ซึ่งประกอบไปด้วยพายุประเภทต่าง ๆ ดังนี้

พายุดีเปรสชัน (Depression) เป็นลมพายุที่เกิดขึ้นในบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ลมพัดเข้าหาศูนย์กลางไม่เกิน 33 น๊อตหรือ 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นลมพายุที่กำลังอ่อน ไม่มีอันตรายที่รุนแรง แต่จะทำให้เกิดฝนตก ลมพัด และน้ำท่วมได้

พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นลมพายุที่พัดด้วยความเร็ว 34-62 หรือ 62-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความแรงของลมปานกลาง แต่ก็สามารถทำให้เรือล่ม บ้านจมอยู่ในน้ำได้ หรือแม้กระทั่งยังสามารถพัดกวาดผู้คนในบริเวณนั้นได้เช่นกัน ถ้าหากลมพายุนี้มีความเร็วลมสูงขึ้นอีกจะกลายเป็นพายุใต้ฝุ่น และในกรณีที่รุนแรงมาก ๆ ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะทำให้บ้านเรือนได้รับผลกระทบพังทลายลงมา การคมนาคมถูกตัดขาด และทำให้เราสูญเสียทรัพย์สินได้

พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นลมพายุที่มีความเร็วสูงใกล้ศูนย์กลาง โดยมีความเร็วประมาณ 64 น็อต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น หากพายุนั้นเกิดขึ้นในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน จะเรียกว่า พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) แต่ถ้าหากพายุเกิดขึ้นบริเวณอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย และทะเลอาราเบียน จะเรียกว่า พายุไซโคลน (Cyclones) และหากเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทร แอตแลนติก ทะเลแคริบเบียน หรือฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา จะเรียกว่า เฮอริเคน (Hurricane) เป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้เกิดฝนตกหนักมากบริเวณที่พายุพัดผ่านไป และมีอำนาจในการทำลายชีวิต ทรัพย์สิน ได้อย่างมากมายเลยทีเดียว สำหรับอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น ทำให้บ้านเรือนเกิดความเสียหาย น้ำท่วม เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดเพราะเกิดน้ำไหลหลากจากฝนที่ตดหนักติดต่อกัน เป็นต้น

** สำหรับในประเทศไทยนั้น พายุหมุนเขตร้อน จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยที่จะเกิดเป็นลมพายุบ่อย ๆ ในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน

2. พายุฝนฟ้าคะนอง

เป็นพายุฝนฟ้าคะนอง หรือที่ทุกคนมักจะเรียกกันว่า พายุฤดูร้อน (Summer Storm) เกิดจากลมร้อนและความชื้นจากน้ำทะเล ที่พัดไปปะทะกับลมแห้งและลมเย็น ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตก ฟ้าผ่า (ในบางพื้นที่อาจจะมีลูกเห็บตกลงมาด้วย)

ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เกิดลมงวงสูง มีผลกระทบต่อบ้านเรือนเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เพราะมันจะทำให้บ้านเรือนของเราเกิดความเสียหาย สิ่งที่กีดขวางทางพายุก็จะถูกทำลายหรือพังไปหมด โดยปกติแล้วความเร็วของลมพายุจะมีกำลังประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็อาจมีความเร็วถึง 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 157 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (85 น๊อต) เลยทีเดียว

สำหรับพายุฝนฟ้าคะนองมักจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม (เป็นระยะเวลาที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในประเทศไทย) อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและความเสียหายด้านทรัพทย์สิน ซึ่งความรุนแรงของพายุมันจะเกิดขึ้นเฉพาะแห่งเท่านั้น

วิธีการรับมือกับวาตภัย

วิธีการรับมือกับวาตภัย

1. การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์วาตภัย ที่จะต้องหาทางช่วยเหลือ ป้องกันชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ไม่ให้เกิดความเสียหายหรือพยายามให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด มีวิธีดังนี้
  • จัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ทันในเวลาฉุกเฉิน ซึ่งจะมีหน้าที่ในการวางแผนปฏิบัติการ จัดเตรียมอุปกรณ์ และเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ให้กับประชาชนด้วย
  • มีการจัดตั้งระบบเพื่อใช้ในการเตือนภัย และช่วยเหลือผผู้ประสบภัย โดยจะต้องมีการกระจายข่าว ประกาศย้ำเตือนบ่อย ๆ เมื่อเกิดลมพายุ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบคือ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมประชาสัมพันธ์ กรมการปกครอง กรมทางหลวง องค์การรถไฟ กรมเจ้าท่า กรมประมง กองตำรวจน้ำ กองทัพเรือกองทัพอากาศ และกรมประชาสงเคราะห์

2. การเตรียมตัวป้องกันอันตรายเมื่อทราบข่าวว่ากำลังจะเกิดวาตภัย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ให้เราทำตามดังนี้

  • ติดตามฟังข่าวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • หากอาศัยอยู่ในที่ราบหรือบริเวณริมน้ำ ควรรีบทำการอพยพผู้คน สัตว์เลี้ยง และทรัพย์สินขึ้นไปอยู่ในที่สูง เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมเฉียบพลัน
  • ปิดประตู-หน้าต่าง ให้แน่นหนา โดยเฉพาะประตู-หน้าต่างที่เป็นกระจก ควรหาไม้ตอกตรึง หรือหาเทป กาวหนังกาวกระดาษปิดทับให้แน่น เพื่อป้องกันลมแรงกระจกแตก การปิดประตูหน้าต่าง จะช่วยปิดกั้นช่องการพัดผ่านของลมได้
  • ก่อนที่พายุจะมา ให้เราเก็บสิ่งของต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เสื้อผ้า ฯลฯ และอพยพสัตย์เลี้ยงไว้บนที่สูง
  • เตรียมเครื่องมือช่างเอาไว้ด้วย เช่น ตะปู ค้อน ลวด ฯลฯ เพื่อนำมาทำเป็นแพไม้หรือแพถังน้ำมัน สำหรับใช้ในการอพยพ
  • ควรดับไฟในเตา ปลดสะพานไฟฟ้า ปิดวาล์วแก๊ส
  • จัดเตรียมน้ำ อาหารแห้ง ยารักษาโรค ให้พร้อม
  • เตรียมตะเกียง ไม้ขีดไฟ ไฟฉาย พร้อมถ่านแบตเตอรี่เอาไว้ด้วย เผื่อไฟฟ้าเกิดดับขึ้นมา เราจะได้ไม่ต้องลำบากในการหาไฟฉาย เพราะมันอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ (ถ้าเราอยู่ในที่มืด ทำให้ขยับตัวได้ยาก)

วิธีการรับมือกับวาตภัย

3. ขณะที่กำลังเกิดวาตภัย 

  • เราต้องพยายามที่จะต้องควบคุมสติให้ดี ขณะที่กำลังเกิดพายุ
  • ไม่ควรเดินออกมาภายนอกอาคาร
  • ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ลุ่ม หรือริมน้ำ

4. หลังจากเกิดวาตภัย เราควรปฎิบัติดังนี้

  • เมื่อพายุสงบลงแล้ว เราควรที่จะรอสักประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วค่อยออกไปข้างนอกอาคาร เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
  • หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บให้เข้าช่วยเหลือในทันที หรือนำตัวส่งโรงพยาบาล
  • หากมีสิ่งของหักพัง หรือต้นไม้ล้ม ควรเก็บหรือจัดการให้ปลอดภัย
  • ถ้าท่อน้ำประปาแตก ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะอาจทำให้เกิดโรคได้ เราควรที่จะรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบแล้วทำการแก้ไข
  • หากมีเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟขาด อย่าเข้าใกล้ ให้ทำเครื่องกีดขวาง เพื่อแจ้งอันตราย และแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาจัดการโดยเร็ว

ประเภทของภัยพิบัติ

สาระน่ารู้ส่งท้าย …

ประเภทของภัยพิบัติ (Natural Disasters) มีดังนี้

1. การระเบิดของภูเขาไฟ (Volcano Eruptions) เป็นธรณีสัณฐานที่หินหนืดปะทุผ่านขึ้นมายังพื้นผิวของดาวเคราะห์ ภูเขาไฟมักเกิดขึ้นใกล้กับแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก

2. แผ่นดินไหว (Earthquakes) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แผ่นดินมีการสั่นสะเทือน ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของแรงบางอย่างที่อยู่ใต้พื้นโลก

3. คลื่นใต้น้ำ หรือสึนามิ (Tsunamis) เป็นคลื่นขนาดยักษ์ที่มีกำเนิดจากในมหาสมุทร และเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่ง

4. วาตภัย หรือภัยจากพายุในรูปแบบต่าง ๆ (Various Kinds of storms) เป็นภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากพายุลมแรง สามารถแบ่งลักษณะของวาตภัยได้ตามความเร็วลมและสถานที่ที่เกิด

5. อุทกภัย (Floods) เป็นภัยที่เกิดจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นน้ำที่ท่วมพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง เนื่องจากมีฝนตกหนักหรือหิมะละลายลงมา

6. ภัยแล้งหรือทุพภิกขภัย (Droughts) ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชนในที่สุด

7. อัคคีภัย (Fires) เป็นภัยที่เกิดไฟ หรือเพลิงไหม้ ที่ไม่สามารถควบคุมเปลวเพลิงได้

8. ดินถล่มและโคลนถล่ม (Landslides and Mudslides) เป็นการเคลื่อนที่ของแผ่นดิน และกระบวนการซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของดินหรือหิน ตามบริเวณพื้นที่ลาดชันที่เป็นภูเขาหรือเนินเขา

9. พายุหิมะและหิมะถล่ม (Blizzard and Avalanches) พายุหิมะเป็นพายุที่ทำให้เกิดหิมะจำนวนมาก จนมองไม่เห็นทางข้างหน้า ผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้วิสัยทัศน์ในการมองเห็นแทบจะเหลือศูนย์ หรือมองไม่เห็นเลย

10. โรคระบาดในคนและสัตว์ (Human Epidemics and Animal Diseases) เป็นอีกภัยพิบัติที่มีความน่ากลัวไม่แพ้ภัยพิบัติในแบบอื่น ๆ เลย เพราะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ จากสัตว์สู่สัตว์, จากสัตว์สู่คน, จากคนสู่คน ทำให้เกิดอันตรายและส่งผลต่อเสียต่อชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก

ข้อมูลจาก FB : การป้องกันวาตภัย ด้วยความรู้เบื้องต้น เพจนี้เพื่อการศึกษาhttps://etcgeography.wordpress.com

Written by : Toey

บทความที่น่าสนใจ