เรียกได้ว่า เปิดศักราชใหม่มาในปี 2562 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ออกประกาศเตือนจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทยในทันที เพื่อให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบเตรียมรับมือกับพายุดีเปรสชั่นที่ก่อตัวกลายเป็นพายุโซนร้อนที่มีชื่อว่า พายุปาบึก (PABUK)
เปิดที่มา พายุปาบึก – พายุโซนร้อนลูกแรงในปี 2562
โดยได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ในลักษณะของหย่อมความกดอากาศต่ำ ก่อนที่จะก่อตัวมีระดับความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ก่อนจะกลายเป็นพายุโซนร้อนในช่วงเช้าของวันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และจะส่งผลทำให้ภาคใต้ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงตกหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 2562 นี้
และเพื่อน ๆ สงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงได้เรียกแนี้ว่า ปาบึก พายุลูกนี้จะมีที่มาของชื่อว่าอย่างไร และจะมีความรุนแรงมากแค่ไหน ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมารู้จักกับพายุที่มีชื่อว่า ปาบึก กัน พร้อมทั้งมีที่มาของชื่อพายุต่าง ๆ มาฝากกันอีกด้วย
รับมือพายุปาบึก 03-01-62
ที่มาของชื่อ พายุปาบึก
สำหรับพายุโซนร้อน ปาบึก (PABUK) เป็นชื่อพายุที่ตั้งมากจากชื่อของ ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่อาศัยอยู่บริวเวณแม่น้ำโขง ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพายุเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นมาจากแถบมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้
ลำดับเหตุการณ์การมาของ พายุปาบึก
การมาของพายุปาบึก เริ่มมาจากบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเปิดเผยว่า พายุปาบึกนั้นไม่ได้มีความรุนแรงเท่ากับพายุไต้ฝุ่นเกย์ แต่ถ้าจะเปรียบความรุนแรงก็คงเท่ากับพายุลินดาเมื่อปี 2540)
ปัจจัยที่ทำให้พายุปาบึกมีความรุนแรงไม่เท่ากับพายุไต้ฝุ่นเกย์ก็เพราะว่า พายุปาบึกมีความเร็วลมอยู่ที่ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่พายุไต้ฝุ่นเกย์ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นแค่เศษ 1 ส่วน 2 ของพายุไต้ฝุ่นเกย์เท่านั้น และอีกหนึ่งเหตุผลก็คือ พายุไต้ฝุ่นเกย์นั้นหยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลา 1 วัน แต่พายุปาบึกจะมีการเคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเสียหายน้อยกว่านั่นเอง
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุปาบึก (PABUK) ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 03 มกราคม 2562
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ส่วนในวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้ามาหาชายฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรงดการออกเรือตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 2562
ช่องทางติดต่อฉุกเฉิน
- สำนักงาน ปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร 075-358-440 ถึง 4
- สำนักงาน ปภ. จังหวัดสุราษฯ โทร 077-272400, 077-272075 หรือ สายด่วน 199
- ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 4 โทร 075-383405
- ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก (ส่วนกลาง) โทร 02-2977648
- ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดชุมพร โทร 077 501 207
- สายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182
- เว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th
สาระน่ารู้ ส่งท้าย…
ความหมายและที่มาของชื่อพายุหมุนเขตร้อน ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพายุปาบึก โดยเป็นการก่อตัวมาจากทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้
- กองเร็ย (KONG-REY) ความหมาย ชื่อสาวงามในตํานานเขมร, ชื่อภูเขา ตั้งขึ้นโดย ราชอาณาจักรกัมพูชา
- ยวี่ถู่ (YUTU) ความหมาย กระต่ายในดวงจันทร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน, กระต่ายหยก ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาชนจีน
- โทราจี (TORAJI) ความหมาย ชื่อต้นไม้มีดอกสวยงามพบในเกาหลี รากใช้ทําอาหารและยา ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
- หม่านหยี่ (MAN-YI) ความหมาย ชื่อช่องแคบ ปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำ ตั้งขึ้นโดย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
- อูซางิ (USAGI) ความหมาย กระต่าย ตั้งขึ้นโดย ประเทศญี่ปุ่น
- ปาบึก (PABUK) ความหมาย ชื่อปลาน้ําจืดขนาดใหญ่ (ปลาบึก) อยู่ในแมน่น้ำโขง ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- หวู่ติบ (WUTIP) ความหมาย ผีเสื้อ ตั้งขึ้นโดย เขตบริหารพิเศษมาเก๊า
- เซอปัต (SEPAT) ความหมาย ปลาชนิดหนึ่ง (ปลาตีน) ตั้งขึ้นโดย ประเทศมาเลเซีย
- มูน (MUN) ความหมาย เดือนมิถุนายน เป็นภาษาพื้นเมืองของหมู่เกาะ ยาป (Yap) ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐสหพันธ์ไมโครนีเซีย
- ดานัส (DANAS) ความหมาย ประสบการณ์และความรู้สึก ตั้งขึ้นโดย ประเทศฟิลิปปินส์
- นารี (NARI) ความหมาย ดอกลิลี ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
- วิภา (WIPHA) ความหมาย ชื่อของผู้หญิง ตั้งขึ้นโดย ประเทศไทย
- ฟรานซิสโก (FRANCISCO) ความหมาย ชื่อของผู้ชาย เป็นภาษาของชนเผ่าชามอร์โรในหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana) ตั้งขึ้นโดย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- เลกีมา (LEKIMA) ความหมาย ชื่อผลไม้ชนิดหนึ่ง (ไทยเรียก ม่อนไข่) ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
- กรอซา (KROSA) ความหมาย นกกระสา, นกกระเรียน ตั้งขึ้นโดย ราชอาณาจักรกัมพูชา
- ไป๋ลู่ (BAILU) ความหมาย กวางขาว ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาชนจีน
- โพดุล (PODUL) ความหมาย ต้นหลิว ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
- เหล่งเหล่ง (LINGLING) ความหมาย ชื่อของเด็กหญิง ตั้งขึ้นโดย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
- คาจิกิ (KAJIKI) ความหมาย ชื่อปลาทะเลที่มีสีสวยงาม ตั้งขึ้นโดย ประเทศญี่ปุ่น
- ฟ้าใส (FAXAI) ความหมาย ชื่อของผู้หญิง ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- เผ่ย์ผ่า (PEIPAH) ความหมาย ปลาที่เลี้ยงไว้ดูเล่นชนิดหนึ่งในมาเก๊า ตั้งขึ้นโดย เขตบริหารพิเศษมาเก๊า
- ตาปะฮ์ (TAPAH) ความหมาย เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ตั้งขึ้นโดย ประเทศมาเลเซีย
- มิแทก (MITAG) ความหมาย ชื่อของผู้หญิง เป็นภาษาพื้นเมืองของเกาะแยป (Yap) ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐสหพันธ์ไมโครนีเซีย
- ฮากีบิส (HAGIBIS) ควาหมาย รวดเร็ว, ว่องไว ตั้งขึ้นโดย ประเทศฟิลิปปินส์
- นอกูรี (NEOGURI) ควาหมาย ชื่อสุนัขพันธุ์หนึ่งในเกาหลีใต้ ลักษณะคล้ายตัวแร็กคูน ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
- บัวลอย (BUALOI) ความหมาย เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่งของไทย ตั้งขึ้นโดย ประเทศไทย
- แมตโม (MATMO) ความหมาย ฝนที่ตกหนัก ตั้งขึ้นโดย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- หะลอง (HALONG) ควาหมาย ชื่ออ่าวที่สวยงามแห่งหนึ่งของเวียดนาม ตั้งขึ้นโดย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ข้อมูลจาก : www.tmd.go.th, news.mthai.com
** ภาพเหล่านี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับพายุปาบึกค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
- พายุไต้ฝุ่น | วิธีเอาตัวรอด เมื่อเราเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิน วาตภัย (ภัยพิบัติจากธรรมชาติ)
- พายุฝน-ฟ้าผ่า | วิธีเอาตัวรอดและป้องกันตนเอง ก่อนและขณะเกิดพายุฝน เกิดฟ้าผ่า
- เกณฑ์การตั้งชื่อพายุ – ที่มาของพายุไต้ฝุ่นมังคุด พายุชื่อผลไม้ไทย
- เกร็ดความรู้ พายุหมุนเขตร้อนประเภทต่างๆ พายุหมุนเขตร้อนในไทย เกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง?