พายุ พายุหมุนเขตร้อน เฮอร์ริเคน ไซโคลน ไต้ฝุ่น

เกร็ดความรู้ พายุหมุนเขตร้อนประเภทต่างๆ พายุหมุนเขตร้อนในไทย เกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง?

Home / สาระความรู้ / เกร็ดความรู้ พายุหมุนเขตร้อนประเภทต่างๆ พายุหมุนเขตร้อนในไทย เกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง?

พายุหมุนเขตร้อน มีกี่ประเภท มีระดับความรุนแรงเท่าไร แต่ละประเภทจะมีผลกระทบในประเทศไทยบ้างมั้ย จะมีความเสี่ยงที่เกิดพายุชนิดนี้ในช่วงเดือนไหนบ้าง ไปอ่านเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ

เกร็ดความรู้ พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อน คืออะไร?

คือ พายุหมุนขนาดใหญ่ที่เกิดเหนือทะเล หรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดหลายร้อยกิโลเมตร สามารถปกคลุมประเทศไทยได้ทั้งประเทศ เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก มีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางเดียวกับเข็มนาฬิกา

ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุดบางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางบางครั้งต่ำกว่า 900 เฮกโตปาสคาล (hPa) มีลักษณะอากาศร้ายเกิดขึ้น มีฝนตกหนักมากและมีพายุฟ้าคะนอง ทำให้เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเล และน้ำขึ้นสูง ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม มองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเรียกว่า “ตาพายุ” ดังในภาพที่ 1 เส้นผ่าศูนย์กลางตาพายุมีขนาดประมาณ 15 – 60 กิโลเมตร ภายในตาพายุมีอากาศแจ่มใส ลมพัดอ่อน มีเมฆบ้างเล็กน้อย

ชื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อน เรียกตามแหล่งกำเนิด

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm)​ มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด ยกตัวอย่างเช่น

พายุ “ไต้ฝุ่น” (Typhoon) บริเวณที่เกิด มหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้  ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, เกาะไหหลำ รวมไปจนถึงประเทศแถวทาง SEA (Southeast Asia) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พายุ “เฮอร์ริเคน” (Hurricane) บริเวณที่เกิด ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แม็กซิโก

พายุ “วิลลี่-วิลลี่” (Willy-Willy) บริเวณที่เกิด มหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

พายุที่ “ไซโคลน” (Cyclone) บริเวณที่เกิด  มหาสมุทรอินเดีย ประเทศที่ได้รับผลกระทบ อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา ไทย

พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย

แบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้
พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป

ภาพระยะเวลาทางเดินของพายุ

พายุหมุนเขตร้อนในไทยเกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง?

ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน ด้านตะวันออกคือมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ส่วนด้านตะวันตกคือมหาสมุทรอินเดีย พายุมีโอกาสเคลื่อนจากทางด้านตะวันออกมากกว่าทางตะวันตก

– ประเทศไทยจะมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3 – 4 ลูกต่อปี

ต้นปีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม

– เป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพายุที่เคลื่อนมาจากด้านตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน

ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

– พายุส่วนใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก โดยช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พายุยังคงเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ซึ่งบริเวณตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด

เดือนกันยายน-เดือนตุลาคม

– และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมมีสถิติเคลื่อนเข้ามามากที่สุดในรอบปี

ช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

– ในช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนพายุจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ แต่ในภาคอื่นๆ จะกลายเป็นฤดูหนาว ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน นำความหนาวเย็นลงมา ระบบอากาศในช่วงนี้จึงไม่เอื้อให้เกิดพายุขึ้นเหนือทะเล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพ: Freepix

บทความแนะนำ