น้ำท่วม ประเภทฝนที่ตกในไทย ฝนปะทะภูเขา ฤดูฝน

ไขข้อสงสัย ฤดูฝนประเทศไทย พร้อมสาเหตุที่ฝนชอบตกในป่า (บนภูเขาสูง)

Home / สาระความรู้ / ไขข้อสงสัย ฤดูฝนประเทศไทย พร้อมสาเหตุที่ฝนชอบตกในป่า (บนภูเขาสูง)

สำหรับ ฤดูฝนของประเทศไทย จะเริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษาคมจนถึงช่วงเดือนตุลาคม ของทุกปี (โดยประมาณ) รวมระยะเวลาก็ประมาณ 5 เดือนกว่า ๆ ซึ่งในช่วงฤดูฝนของไทยจะได้รับอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ หรือลมที่พัดจากฝั่งทะเลอันดามันเข้ามายังพื้นที่ส่วนของประเทศไทย

สาระน่ารู้ ฤดูฝนประเทศไทย

ทำให้เกิดฝนตกชุกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และในช่วงปลายของฤดูฝนจะเป็นช่วงมรสุม ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุหลายลูกด้วยกันที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งพายุบางตัวก็จะพัดเข้าไทยเมื่ออ่อนตัวลงแล้ว

ในขณะที่บางลูกจะเคลื่อนที่เข้ามาขณะที่ยังเป็นพายุไต้ฝุ่นอยู่ ทำให้เกิดเป็นฝนตกหนัก ลมแรง และเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศไทยด้วย และนี่คือสาระน่ารู้เกี่ยวกับประเภทของฝนในไทย พร้อมไขข้อสงสัยเกี่ยวกับฝนที่ชอบตกในป่าหรือบริเวณภูเขาสูงมาบอกกันด้วยค่ะ

ฝนปะทะภูเขา

ทำไม… ฝนถึงชอบตกในป่า (ภูเขา)

เพื่อน ๆ เคยสังเกตกันหรือไม่ว่า ทำไมในถึงได้ตกในบริเวณที่เป็นป่าเขามากกว่าตกในพื้นที่ราบ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า ป่าบนภูเขาสูงมีอากาศเย็นสามารถกักเก็บไอน้ำได้น้อย และเมื่อไอน้ำเคลื่อนตัวเข้าชนกับอากาศเย็นเป็นจำนวนมาก ทำให้อุณภูมิลดลงตกลงมาเป็นฝน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่ออากาศอิ่มตัว ไม่สามารถเก็บไอน้ำได้ ก็จะกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝน นั่นเอง

สำหรับป่าบริเวณภูเขานั้น ถ้ามีลมพัดปะทะกับภูเขา อากาศก็จะถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้นตามแนวลาดเขาด้านรับลม เมื่อไอน้ำขึ้นไปสูงถึงระดับหนึ่งก็จะกลายเป็นหยดน้ำ โดยเกิดการขยายตัวแบบแอเดียแบติค (Adiabatic Expansion) แล้วเย็นลงจนถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้างจนไอน้ำกลั่นตัวกลายเป็นเมฆหรือหมอก

หมอกลาดเชิงเขา (Up-slope fog)

โดยที่ เราจะเรียกว่าเมฆ หรือหมอกลาดเชิงเขา (Up-slope fog) นั้น ขึ้นอยู่กับจุดที่เราสามารถมองเห็นได้ กล่าวคือ ถ้าสมมติว่าเราอยู่ด้านล่างแล้วมองขึ้นไปจะเห็นเป็นเมฆลอยอยู่บนท้องฟ้า แต่ถ้าเราอยู่บนภูเขาในระดับที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนก็จะเรียกว่าหมอก

ดังนั้น ถ้าหยดน้ำเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นเมฆหรือหมอกจำนวนมาก และหนักขึ้นจนถึงจุดหนึ่งก็จะตกลงมาเป็นฝน (ด้านฝั่งรับลมหรือด้านหน้าของภูเขา) ฝนที่ตกลงมาด้วยสาเหตุนี้จึงเรียกว่า ฝนปะทะภูเขา หรือฝนภูเขา (Orographic rain) นั่นเอง

ประเภทของฝนที่ตกในไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการแบ่งลักษณะของฝนที่ตกลงมาตามสาเหตุของการเกิด ดังต่อไปนี้

1. ฝนพาความร้อน

ฝนพาความร้อน (Convectional Rain) เป็นฝนที่เกิดจากกลุ่มอากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นจนถึงจุดไอน้ำกลั่นตัวลงมาเป็นฝนในตอนเย็นและกลางคืน ลักษณะฝนที่ตกเป็นแบบฝนโปรย (Rain – Shower) หรือเกิดฝนตกหนักมากเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่ฝนตกอาจจะมีพายุพัดรุนแรง มีลูกเห็บตก และฟ้าคะนองรุนแรง การเกิดฝนชนิดนี้จะปรากฏในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน

2. ฝนปะทะภูเขา

ฝนปะทะภูเขา หรือ ฝนภูเขา (Orographic Rain) เป็นฝนที่เกิดจากลมที่มีความชื้นพัดไปปะทะภูเขา โดยเฉพาะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลมจะพัดสูงขึ้นและอุณหภูมิจะลดต่ำลงจนถึงจุดทีไอน้ำกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝน (ฝนชนิดนี้จะตกบ่อยมาก) จะเริ่มตกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ตามปกติแล้วมักจะตกในช่วงบ่ายหรือตอนกลางคืน

ประเภทของฝนที่ตกในไทย

3. ฝนพายุหมุน

ฝนพายุหมุน (Cyclonic Rain) เกิดขึ้นเพราะว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในทางผ่านของพายุหมุนซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ แล้วเคลื่อนตัวมาทางตะวันตกเข้าสู่ชายฝั่งทะเลเวียดนาม และพัดเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย พายุที่พัดเข้ามาในมักจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นหรือหางพายุ นอกจากนี้ฝนพายุหมุนยังเกิดจากการปะทะของอากาศหลายกระแส ซึ่งพัดมาจากทิศทางต่าง ๆ เช่น ประเทศจีนตอนใต้ ฝนชนิดนี้จะพบในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม

4. ฝนแนวปะทะ

ฝนแนวปะทะ (Frontal Rain) เป็นฝนที่เกิดจากมวลอากาศร้อนและอากาศเย็นมาพบกัน อากาศเย็นจะหนุนอากาศร้อนลอยตัวขึ้นข้างบน อุณหภูมิของอากาศจะลดลงจนกลั่นตัวตกลงเป็นฝน ฝนชนิดนี้จะเกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

5. ฝนมรสุม

ฝนมรสุม (Monsoon) เป็นฝนที่ตกในฤดูมรสุม หรือเป็นฝนที่ตกต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

6. ฝนชะช่อมะม่วง

ฝนชะช่อมะม่วง (Mango Shower) เป็นฝนขนาดเบา เกิดจากคลื่นในกระแสลมตะวันออกพัดผ่านเข้ามาสู่ผืนแผ่นดิน จะตกในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์

7. ฝนฟ้าคะนอง

ฝนฟ้าคะนอง (Thundery Rain) เป็นฝนที่ตกเป็นครั้งคราว และมีฟ้าแลบเกิดขึ้นตามมาด้วย

8. ฝนซู่ฟ้าคะนอง

ฝนซู่ฟ้าคะนอง (thundery Shower) เป็นหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมา และมักจะมีลูกเห็บเกิดขึ้นตามมาด้วย

ฝนที่ตกในเมืองไทย

9. พายุฝนฟ้าคะนอง

พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) เกิดขึ้นพร้อมกับฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และมีลูกเห็บตกอีกด้วย

10. ฝนตกเป็นครั้งคราว

ฝนตกเป็นครั้งคราว (Occasional Rain) เป็นฝนที่ตกไม่ต่อเนื่องกัน หยุดนาน แล้วก็ตกใหม่อีกครั้ง โดยที่ท้องฟ้าจะครึ้มและมีเมฆหนา

11. ฝนตกเป็นระยะ

ฝนตกเป็นระยะ (Intermittent Rain) เป็นฝนที่ตกแล้วหยุด และก็ตกใหม่อีกครั้งในระยะเวลาไม่นาน (เรียกง่าย ๆ ว่า ฝนที่ชอบหยุดแปบเดียว แล้วก็ตกใหม่อีกครั้งนั่นเอง) ซึ่งจะเป็นฝนที่ตกไม่หนักมาก

12. ฝนตกต่อเนื่องกัน

ฝนตกต่อเนื่องกัน (Continuous Rain) บางครั้งเรียกว่า “ฝนพรำ” หรืออื่น ๆ ได้แก่ ฝนเฉพาะแห่ง ฝนเป็นแห่ง และฝนกระจายเป็นบริเวณกว้าง

13. ฝนโคลน

ฝนโคลน (Mud Rain) เป็นฝนที่มีละอองของดินทราย ผงฝุ่น ผสมอยู่ทำให้ฝนที่ตกลงมามีสีคล้ายน้ำโคลน

14. ฝนเลือด

ฝนเลือด (Blood Rain) เป็นฝนที่มีฝุ่นสีแดงผสมอยู่มาก เวลาตกลงมาจึงมีสีแดงคล้ายสีเลือดนั่นเอง

15. ฝนสีเหลือง

ฝนสีเหลือง (Sulphur Rain) เป็นฝนที่มีละอองของฝุ่นสีเหลืองอยู่มาก เวลาตกลงมาก็จะมีสีเหลืองผสมอยู่ด้วย

ข้อมูลจาก : https://sites.google.com/www.aeromet.tmd.go.th/วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความที่น่าสนใจ