น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก วิธีเอาตัวรอด อุทกภัย

วิธีเอาตัวรอด จากอุทกภัย – น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

Home / สาระความรู้ / วิธีเอาตัวรอด จากอุทกภัย – น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

ภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถหาวิธีการป้องกันได้ ซึ่งภัยธรรมชาติที่เรามักจะประสบกันอยู่บ่อยครั้งก็คือ “อุทกภัย” ซึ่งอาจจะเกิดมาจากสาเหตุน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ฯลฯ โดยปกติจะเกิดจากที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน และในบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ดินถล่มได้เช่นกัน

วิธีเอาตัวรอด จากอุทกภัย น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

ดังนั้นในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีวิธีการป้องกันตนเองและสิ่งของต่าง ๆ เมื่อเกิดอุทกภัย และวิธีเอาตัวรอดเมื่อเราจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัยที่ไม่สามารถหนีออกมาได้ในทันที

ชนิดของอุทกภัย ที่เราต้องรู้

1. น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง

เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนทำให้พื้นดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้ทัน หรือท่อระบายน้ำไม่สามารถที่จะระบายน้ำลงไปในลำคลองหรือแม่น้ำได้ทันต่อปริมาณน้ำที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยฝนที่ตกลงมาจะไหลลงสู่พื้นที่ราบอย่างรวดเร็ว และปัญหาน้ำท่วมขังหรือล้นตลิ่งมักจะเกิดขึ้นในที่ราบสูง และไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าจนทำให้น้ำทะลักเข้ามาท่วมบ้านเรือน ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน การจราจรติดขัด เกิดโรคระบาด และทำลายพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน

น้ำท่วม

2. น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมเฉียบพลัน

เกิดจากฝนตกหนักเป็นเวลานานหรือเกิดจากพายุฝนที่เกิดซ้ำหลายครั้งติดต่อกัน จึงทำให้ดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้ทันและในบางครั้งก็เกิดจากสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ขัดขว้างทางน้ำ ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาในป่าไม่สามารถไหลได้ตามเส้นทาง สุดท้ายก็เกิดเป็นน้ำป่าไหลหลาก และยังส่งผลทำให้หน้าดินพังทลายลงมาด้วย ทำให้ทะลักเข้าท่วมตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่แถว ๆ เชิงเขาเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่ทำการเกษตร

วิธีการรับมือกับอุทกภัย

1. ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

คอยติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เช่น การสังเกตลมฟ้าอากาศ และคอยติดตามคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

2. ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยราชการ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึงวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเจอสถานการณ์อุทกภัย (น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก)

3. เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

เตรียมตัวอพยพไปในสถานที่ปลอดภัย อยู่ในสถานที่หรืออาคารที่มีความแข็งแรงที่มีความทนทานต่อแรงดันน้ำได้ และอยู่ให้พ้นจากระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน

4. ร่างกายต้องอบอุ่น

ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเจ็บป่วยในขณะที่น้ำกำลังท่วม หรือกำลังประสบกับสถานการณ์ที่จะต้องติดอยู่ในบ้านหรือป่าที่ไม่สามารถออกมาได้

5. สังเกตปริมาณน้ำให้ดี

เมื่อสังเกตได้ว่าปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้เรายกของใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านขึ้นที่สูงให้หมด หรือถ้าเราติดอยู่ในป่าหรือถ้ำก็ให้หนีขึ้นที่สูงเช่นกัน (ไม่ควรหนีขึ้นบนต้นไม้นะ เพราะถ้าเกิดน้ำป่าไหลหลากต้นไม้ก็อาจจะโดนกระแสน้ำพัดไปด้วย)

น้ำป่าไหลหลาก

6. ตัดสะพานไฟในบ้าน

เมื่อน้ำไหลเข้าท่วมถึงบริเวณตัวบ้าน ให้เราทำการตัดสะพานไฟภายในบ้าน ป้องกันปัญหาไฟช็อต และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อยแล้วยกขึ้นที่สูง

7. ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะเวลาฝนตก

ขณะที่ฝนกำลังตกอยู่นั้น เราไม่ควรที่จะขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก เพราะมันอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้

8. ระวังเชื้อโรคที่มากับน้ำ

เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขัง เราไม่ควรลงไปเล่นน้ำหรือว่ายน้ำโดยเด็ดขาด เพราะมันอาจจะทำให้เราติดเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วมได้

9. ระวังสัตว์มีพิษให้ดี

ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมเข้ามาอยู่ภายในบ้านหรือหลังคาบ้าน เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น เราไม่ควรเปิดประตูบ้านหรือหน้าต่างเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเหล่านี้เข้ามาภายในบ้านได้

10. เตรียมอาหารให้พร้อม

อาหารก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมีการเตรียมพวกอาหารแห้งหรืออาหารกึ่งสำเร็จรูป และน้ำดื่มเอาไว้ด้วย ป้องกันการขาดอาหารและน้ำดื่มในการบริโภค หากเราจะต้องติดอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมนานหลายวันติดต่อกัน

** ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้างมาก่อนเป็นอันดับแรก มากกว่าการห่วงของมีค่าต่าง ๆ นะจ๊ะ

บทความที่น่าสนใจ