ข้อคิดดีๆ คนเห็นแก่ตัว

เมื่อเจอคนเห็นแก่ตัว เราโดนเอาเปรียบ ทำอย่างไรดี?

Home / เรื่องทั่วไป / เมื่อเจอคนเห็นแก่ตัว เราโดนเอาเปรียบ ทำอย่างไรดี?

ในโลกมีคนมากมาย แตกต่างกันไป หากคุณก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อต้องมาเจอกับคนเห็นแก่ตัว (ที่มีอยู่มากมาย) ควรทำอย่างไรดี พยายามคิดจะเป็นฝ่ายให้ แต่พอให้ไปแล้ว ทำไมจึงคิดว่า เป็นคนโง่ การสละออกเพื่อลดความตระหนี่ มีขอบเขตที่ตรงไหน

.. เราเพียงแค่ทำตามหน้าที่ของเราให้ครบ ทำความดีให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องไปหวังกับผลที่จะได้ เราก็ไม่ต้องผิดหวัง ถ้าผลไม่ออกมาตามที่เราคาดหวังไว้ ถ้าทำเหตุไว้ดี ผลจะออกมาดีเอง

เมื่อเจอคนเห็นแก่ตัว เราโดนเอาเปรียบ ทำอย่างไรดี?

สููดลมหายใจลึกๆ แล้วอ่านให้จบ..

ผู้เห็นแก่ตัวเป็นอย่างไร?

คนเห็นแก่ตัว ขี้เกียจ ไม่อยากทำงานแต่จะเอาประโยชน์ เป็นคนลำเอียง ไม่ให้ความยุติธรรม คอยแต่จะคัดค้าน หาความสนุกสนานด้วยการคัดค้าน คนเห็นมักจะบิดพลิ้วไม่ทำสิ่งที่ควรจะทำ คนเห็นแก่ตัวทำอะไรชุ่ยๆ ไม่ละเอียด ไม่ประณีต ไม่สุขุม คนเห็นแก่ตัวทำอะไรก็เอาเปรียบผู้อื่น ตระหนี่ ขี้เหนียวแล้วก็คดโกงซึ่งหน้า อีกทั้งยังเป็นผู้อิจฉาริษยา ไม่สามัคคี อกกตัญญู ยกตนข่มผู้อื่น ชอบใส่ความผู้อื่น ไม่ซื่อตรงแม้แต่เวลา ไม่ซื่อตรงต่อเวลา ไม่ซื่อตรงต่อเพื่อนมนุษย์

เจอคนเห็นแก่ตัว เราจะทำยังไง?

ท่องไว้ .. เรื่องของเขา เรื่องของเรา

แต่สิ่งที่เราต้องคิดให้ได้ เพื่อมันจะเป็นสิ่งดีๆ กับเราก็คือ “เรื่องของเขา เรื่องของเรา”

คนอื่นเห็นแก่ตัว ก็เป็น “เรื่องของเขา” เขาทำกรรมอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่กรรมออกผล เขาก็จะเป็นผู้ได้รับรู้ผลของกรรมนั้นเอง ถ้าเขาไม่เรียนรู้เขาก็ต้องเจอกรรมนั้น ซ้ำๆ ซากๆ เอง เราไม่มีหน้าที่จะต้องไปรับรู้ หรือเร่งผลแห่งกรรมของเขา

ส่วนเราจะทำดี เมื่อกรรมดีออกผลเราก็จะได้รับรู้ผลนั้นเอง อันนี้เป็น “เรื่องของเรา”

คนชั่ว

มีคนสอนว่าคนชั่ว คือคนที่ไม่สามารถรักษาศีลได้ หรือเป็นคนมักโกรธ หรือคอยเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่นอยู่

คนประเภทนี้ ถ้าอยู่ห่างได้ ก็ให้อยู่ห่าง ถ้าไม่สามารถอยู่ห่างได้ จำเป็นต้องอยู่ใกล้ ก็พยายามไม่สนทนาด้วย ถ้าจำเป็นต้องสนทนา ก็ต้องสนทนาแต่น้อยๆ ก็พอ เพราะว่า อยู่ใกล้คนประเภทนี้ ไม่เท่าทุนก็ขาดทุน หากำไรไม่ได้

อุเบกขา พรหมวิหารสี่

ควรวางอุเบกขากับการกระทำที่เราทำไป เป็นขั้นตอนทางจิตอย่างหนึ่งในพรหมวิหารสี่ เริ่มจาก

เมตตา คือการมีจิต ที่คิดให้ความช่วยเหลือ,  กรุณา คือหลังจากเมตตาเต็มจนล้นมาถึงขั้นลงมือช่วยเหลือแล้ว จากตรงนี้ก็จะเห็นโอกาสอยู่ 2 ทางคือ สำเร็จ หรือ ไม่สำเร็จ

ถ้าสำเร็จ ผู้ที่เราช่วยเหลือได้รับความสำเร็จ แล้ว เรายินดีในความสำเร็จของเขา เรียกว่า มุทิตา อันนี้ได้บุญด้วย แต่ถ้าเราเผลอไปอิจฉาความสำเร็จของคนที่เราช่วย อันนี้ถือว่าติดลบ

ถ้าไม่สำเร็จ ผู้ที่เราช่วยเหลือ ไม่ได้รับความสำเร็จ เราก็ต้องปล่อยเขาไป แต่ถ้าเราเผลอไปโกรธเขา ว่าเราช่วยเขาขนาดนี้แล้วยังทำไม่ได้ อันนี้เราติดลบอีก

เช่น ถ้าเรามีเพื่อนหัวไม่ดีเรียนไม่เก่ง เราสงสารเขาอยากให้เขาสอบผ่าน อันนี้คือเริ่มเมตตาค่ะ

แล้วเราเริ่มติวหนังสือให้เขา อันนี้ทำการ กรุณา… จากนั้นมาถึงทางแยก ถ้าเพื่อนสอบผ่าน ได้เกรด A แล้วเรายินดีในความสำเร็จของเขา อันนี้เรามี มุทิตา, แต่ถ้าเพื่อนได้ A เรากลับได้ B แล้วเราไปโมโหเขา เราเป็นคนติวเขาทำไมเขาได้ดีกว่าเรา อันนี้ติดลบค่ะ ไม่ได้บุญแถมยังขุ่นใจ เพราะเราไปเปรียบเทียบเขากับเราทำให้เสียโอกาสได้บุญ

แต่ถ้ามองที่ตัวเพื่อนอย่างเดียวจะชื่นใจกว่าเพราะอันนั้นก็เป็นผลงานของเราด้วย ถูกมั๊ยคะ หรือถ้าเพื่อนเกิดสอบตก แล้วเราไปโมโหเขา ว่าเขาไม่ตั้งใจอย่างโน้น อย่างนี้ อันนี้ติดลบค่ะ แต่ ถ้าเราคิดว่าเพื่อนได้พยายามแล้วได้เท่านี้ก็ OK นะ เดี๋ยวค่อยพยายามใหม่ อันนี้คือ อุเบกขาค่ะ เป็นความฉลาดทางจิต ไม่ต้องไปยึดสิ่งนอกตัวเป็นอารมณ์ ทำให้ใจเรามีอิสระ และมีความสุข ได้ทั้งประโยชน์ตน และ ประโยชน์ต่อคนอื่นด้วยค่ะ

บังคับใครไม่ได้

เราคงจะไม่สามารถไปบังคับไม่ให้เขาเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร คนที่ควรคบก็ควรคบ คนไม่ดีควรอยู่ห่างๆ อาจจะนำหนังสือธรรมะหรือเทปไปฝากเขาบ้าง บางทีเขาก็ยังไม่รู้ในสิ่งที่เขาเป็นขาดคนชี้แนะ ขาดสิ่งที่นำพาไปในทางที่ถูกต้องก็ได้

สิ่งที่สำคัญที่สุด

คือ เราเพียงแค่ทำตามหน้าที่ของเราให้ครบ ทำความดีให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องไปหวังกับผลที่จะได้ เราก็ไม่ต้องผิดหวังถ้าผลไม่ออกมาตามที่เราคาดหวังไว้ ถ้าทำเหตุไว้ดี ผลจะออกมาดีเองค่ะ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกคน….

ที่มา : Share.psu.ac.th : ม.สงขลานครินทร์ และ เพจ คำคมธรรมะ เตือนใจ

บทความแนะนำ