ความหมาย ความแตกต่าง คำคม คำพังเพย สำนวน สุภาษิต

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำคม ต่างกันยังไง?

Home / สาระความรู้ / สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำคม ต่างกันยังไง?

ข้อคิดดีๆ ที่เรานำมาฝาก บางครั้งเราก็แอบสับสน ว่าประโยคข้อความเหล่านั้นเป็น สำนวน สุภาษิต คำพังเพย หรืออะไรกันแน่ และมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำคม ต่างกันยังไง

คําพังเพย

คือ ถ้อยคําที่เปรียบเทียบเหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่พบเห็นได้ในการดํารงชีวิตของคนรุ่นก่อน โดยมากไม่เน้นการสั่งสอน แต่ใช้ในทํานองเสียดสีประชดประชัน เพื่อให้สะท้อนความคิด ความเชื่อถือ และเป็นคติเตือนใจ หรือเป็นข้อคิดสะกิดใจให้นํามาปฏิบัติ

ตัวอย่างคำพังเพย เช่น งมเข็มในมหาสมุทร, ขิงก็ราข่าก็แรง, ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ฯลฯ

สุภาษิต

สุภาษิต คือ คำกล่าวที่มีคติสอนใจ สุภาษิตจึงมีลักษณะเดียวกับสำนวนและคำพังเพย แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน เตือนสติให้คิด ไม่มีการเสียดสีหรือติชมอย่างคำพังเพย เป็นถ้อยคำที่แสดงหลักความจริง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วๆ ไป ภาษิตนี้ยังมีความหมายรวมไปถึง สัจธรรม คำสั่งสอนที่เป็นความจริงอันเที่ยงแท้ทางศาสนาด้วย

ตัวอย่างสุภาษิต เช่น ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว, ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน, คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร , กงเกวียน กำเกวียน,รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ,น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ, ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า

สำนวน

สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่กระทัดรัด คมคายกินใจผู้ฟัง ไพเราะสละสลวยและมีความหมายลึกซึ้ง เป็นที่รู้จักกันทั่วไป สำนวนในที่นี้รวมถึง สุภาษิต ภาษิต และคำพังเพยด้วย

คำคม

คำคม คือ ถ้อยคำที่หลักแหลมชวนให้คิด หรือถ้อยคำหรือข้อความที่มีความหมายอยู่ในตัว ด้วยการกล่าวซ้ำคำ บางคำในข้อความนั้นๆ ให้มีความหมายเกี่ยวพันกับเนื้อความเดิม คำคมที่ดีต้องแสดงถึงการใช้ความคิด หรือแสดงให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านเกิด ความลึกซึ้งเมื่อได้อ่าน

คำคม มีหลายลักษณะ

 คำคมที่เป็นคำพูดธรรมดา ไม่มีสัมผัส โดยมากใช้คำง่ายๆ ไม่ต้องแปล อ่านแล้วเข้าใจทันที เช่น “ความรักทำให้คนตาบอด” “ลืมที่อันตรายคือลืมตัว” “ไม่มีใครรักเราเท่าพ่อแม่” “อดีตคือสิ่งที่ผ่าน อนาคตคือสิ่งที่ฝัน ปัจจุบันเท่านั้นคือความจริง”

คำคมที่เป็นคำสัมผัสคล้องจองกันสั้นๆ ส่วนมากมี ๒ วรรค เพื่อจดจำ ได้ง่าย เช่น “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” “โกรธคือนรก งกคือเปรต” “ความงามไม่คงที่ ความดีซิคงทน” “ความสำเร็จของลูก คือความสุขของพ่อแม่” “อันนารีไม่ใช่เลขคณิต อย่าไปคิดให้หนักสมอง”

คำคมที่แต่งด้วยคำประพันธ์ เช่น ใครลืมใครใจรู้ ใครอยู่ใครไปใจเห็น , ใครสุขใครเศร้าเช้าเย็น ใจเป็นที่แจ้งแห่งเรา ,  ใครชอบใครชังช่างเถิด ใครเชิดใครชูช่างเขา, ใครเบื่อใครบ่นทนเอา ใจเราร่มเย็นเป็นพอ

คติพจน์

คติพจน์ คือ ถ้อยคำที่เป็นแบบอย่าง มีคติชวนคิด มุ่งให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคม (ใช้ถ้อยคำน้อยมีความหมายลึกซึ้ง, ใช้คำคล้องจอง สละสลวย, มุ่งให้เกิดผลในด้านดีเท่านั้น)

ตัวอย่างคติพจน์

– ถึงบรรลัยไว้ชื่อให้ลือชา หมายความว่า จงเป็นคนกล้าหาญยอมสละชีพ เพื่อให้ชื่อเสียงยังคงปรากฏ อยู่ในแผ่นดิน

– ศรัทธาในธรรม นำทางชีวิต พิชิตกิเลส หมายความว่า ให้ยึดถือหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิตเพื่อความสงบสุขโดยปราศจากกิเลสใดๆ มาแผ้วพาน

คำขวัญ

คำขวัญ คือ คำพูดหรือข้อความที่มุ่งให้กำลังใจ มักจะมีข้อคิดที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้

สรุป

คำพังเพย คือ ถ้อยคำ เปรียบเทียบเหตุการณ์ โดยมากไม่เน้นการสั่งสอน แต่ใช้ในทํานองเสียดสีประชดประชัน เพื่อให้สะท้อนความคิด ความเชื่อถือ

สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่กระทัดรัด คมคายกินใจผู้ฟัง ไพเราะสละสลวยและมีความหมายลึกซึ้ง

สุภาษิต คือ คำกล่าวที่มีคติสอนใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน เตือนสติให้คิด ไม่มีการเสียดสีหรือติชม

คำคม คือ ถ้อยคำที่หลักแหลมชวนให้คิด หรือถ้อยคำหรือข้อความที่มีความหมายอยู่ในตัว

คำขวัญ คือ คำพูดหรือข้อความที่มุ่งให้กำลังใจ มักจะมีข้อคิดให้นำไปใช้ดำเนินชีวิตได้

อธิบายให้เห็นภาพอีกแบบหนึ่งได้ตามนี้

สำนวน : เป็นการใช้ถ้อยคำหรือประโยค ไม่ใช่การเปรียบเปรยเปรียบเทียบหรือมีข้อคิด อย่าง แกะดำ กระต่ายหมายจันทร์ เป็นสำนวนค่ะ

สุภาษิต จะต้องมีข้อคิด ข้อสั่งสอน เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี , อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น

คำพังเพย เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งค่ะ เช่น ขาวเหมือนสำลี โง่เหมือนควาย ฯลฯ

จากผู้ใช้ Pantip สาวไกด์ใจซื่อ

ที่มา https://krupiyarerk.wordpress.com/

บทความแนะนำ