พระราชพิธี พระเมรุมาศ พิธีถวายพระเพลิง ร.9 ในหลวงรัชกาลที่ 9

แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ฉบับสมบูรณ์ โดยกรมศิลปากร

Home / เรื่องทั่วไป / แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ฉบับสมบูรณ์ โดยกรมศิลปากร

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ได้มีการเปิดเผยภาพ แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ทางกรมศิลปากรที่ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยในวันนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ฉบับสมบูรณ์

แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ

“สำหรับแบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ทางกรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา อาจมีปรับในรายละเอียดเล็กน้อย เพื่อให้สมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในวันนี้ถือว่าสมบูรณ์แบบแล้ว ที่ผ่านมาได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รับทราบเป็นระยะ โดยนายกฯ กำชับให้จัดสร้างอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งการประชุมในวันนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจและรับทราบ เพื่อพร้อมดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป

.. ทั้งนี้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้จะทำพิธีตอกหมุดจุดกึ่งกลางพระเมรุมาศ และทำการบวงสรวง การปรับปรุงตกแต่งราชรถ พระราชยาน ในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 นี้ โดยช่วงเดือนธันวาคมนี้จะเริ่มก่อสร้างและปิดรั้ว 2 ใน 3 ของสนามหลวง จากนั้นเดือนมกราคม 2560 เมื่อ กทม.ให้พื้นที่จะเริ่มก่อสร้าง และวางแผนจะเสร็จไม่เกินเดือนกันยายน 2560” พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

กรอบแนวคิด 3 ประการ

ด้านนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ เปิดเผยว่า การออกแบบครั้งนี้เราได้กำหนดกรอบแนวคิดไว้ 3 ประการ คือ

  1. ต้องสมพระเกียรติ เพราะครั้งนี้เป็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งงานถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ครั้งหลังสุดคือ ปี 2493 คือการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เพราะฉะนั้น 60 กว่าปีที่ผ่านมามีเพียงพระเมรุของสมเด็จชั้นเจ้าฟ้า
  2. ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณ โดยยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแบบของสมัยอยุธยานั้นเราไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน เราจึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และ
  3. การออกแบบครั้งนี้ยึดหลักไตรภูมิ ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ ตามระบบเทวนิยม

ซึ่งจาก 3 แนวคิดหลักนี้ก็ปรากฏเป็นแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ คือแบบทรงยอดบุษบก องค์หลักจะอยู่กึ่งกลางอันหมายถึงเขาพระสุเมรุ อีก 8 มณฑป ที่อยู่รายรอบนั้นหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล

ส่วนลวดลายประกอบ ไม่ว่าจะเป็นชั้นฐาน หรือประติมากรรมที่ประกอบในพระเมรุมาศ ทั้งหมดจะสะท้อนถึงเรื่องระบบจักรวาล ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นชั้นครุฑ ชั้นเทพ หรือเทวดา รวมไปถึงสัตว์หิมพานต์ นอกจากนี้ที่พิเศษในครั้งนี้คือเสาโคมครั้งนี้จะใช้เสาครุฑ เพราะครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ ในแนวคิดสมมุติเทพนั้น พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์

ส่วนขนาดของพระเมรุมาศในครั้งนี้จะใหญ่กว่า 4 ครั้งหลังที่ผ่านมา มีฐานกว้างด้านละ 60 เมตร มีความสูงถึง 50.49 เมตร และจะมีอาคารประกอบต่างๆ ทั้งพระที่นั่งทรงธรรมที่มีขนาดความสูงถึง 20 เมตร สง่างามสมพระเกียรติ สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์ก็จะมีการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ เช่น กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ การปลูกหญ้าแฝก ฯลฯ จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์

แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ

งานศิลปกรรม

ต่อมาคืองานเรื่องศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทพ เทวดา สัตว์หิมพานต์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยึดตามคติความเชื่อของระบบจักรวาล อันเกี่ยวกับสมมุติเทพทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่อดีต

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างพระโกศจันทน์ ขณะนี้แบบเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะเป็นไปตามราชประเพณีทุกประการ ส่วนการสร้างพระโกศทองคำที่จะบรรจุพระบรมอัฐินั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ก็จะมีการบวงสรวงในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์เป็นประธาน ซึ่งเป็นไปตามทำเนียมคติความเชื่อที่ก่อนจะดำเนินการสร้างจะต้องมีการบูรณะราชรถ ราชยาน ทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2560

ทั้งนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องในการออกแบบ โดยทีมออกแบบพระเมรุบุษบก 9 ยอดนั้น ประกอบด้วย นายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกของกรมศิลปากร และนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม ส่วนพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่มากผู้ออกแบบประกอบด้วย นายจักรพันธ์ วัชระเรืองชัย น.ส.ชารินี อรรถจินดา และนายอาทิตย์ ลิ่มมั่น นอกจากนั้นก็จะเป็นกรมศิลปากรทั้งหมด ส่วนพระโกศจันทน์นั้นออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อําไพพร นายช่างศิลปกรรมของสำนักช่าง 10 หมู่ กรมศิลปากร

content-r9-03

content-r9-04

แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ

content-r9-06

แบบก่อสร้างพระเมรุมาศ

content-r9-08

ที่มา www.matichon.co.th

บทความแนะนำ