พระบรมศพ พระเมรุมาศ พิธีถวายพระเพลิง ร.9 โบราณราชประเพณี

เครื่องประกอบ ประดับตกแต่ง บริเวณมณฑล พระเมรุมาศ พระเมรุ

Home / สาระความรู้ / เครื่องประกอบ ประดับตกแต่ง บริเวณมณฑล พระเมรุมาศ พระเมรุ

ในการการสร้างพระเมรุมาศ หรือ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิง จะมีขนาดและรูปแบบ งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน ในบทความนี้มีความรู้เรื่องเครื่องประกอบตกแต่งบริเวณมณฑลพระเมรุมาศ พระเมรุ

เครื่องประกอบ ประดับตกแต่ง บริเวณมณฑล พระเมรุมาศ พระเมรุ

ราชวัติ

เป็นแนวรั้วเป็นเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศ และพระเมรุ ทั้ง ๔ ด้าน ตกแต่งด้วยฉัตรและธง บางทีเรียกรวมกันว่า ราชวัติฉัตรธง

ฉัตร

เป็นเครื่องสูงประกอบพระอิสริยยศ ประดิษฐานอยู่เหนือยอดพระเมรุมาศ แล้วแต่จะเป็นฉัตรกี่ชั้นตามพระอิสริยยศ นอกจากนี้อาจมีฉัตรเครื่องสูง ฉัตรราชวัติ หรือฉัตรระบายสี ดังเช่นในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประกอบด้วย สัปตปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว ๗ ชั้น ประดับเหนือยอดพระเมรุมาศ ฉัตรเครื่องสูง ๕ ชั้น ซึ่งเป็นฉัตรทองแผ่ลวดประดับโดยรอบตามเชิงบันไดทางขึ้นสูงพระเมรุ และฉัตรระบายสีซึ่งเป็นฉัตรโลหะฉลุลายโปร่ง ๗ ชั้น ประดับส่วนบนหลังคาของอาคารทิม เป็นต้น

ฉากบังเพลิง

เป็นเครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ บนพระเมรุมาศ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงและใช้บังลม มีลักษณะเป็นฉากพับได้ติดไว้กับเสาพระเมรุมาศ ทั้ง 4 ด้าน ตามโบราณราชประเพณีใช้สำหรับพระศพชั้นโกศเท่านั้น และภาพที่เขียนบนฉากบังเพลิงจึงล้วนด้วยรูปของเทพยดาทั้งสิ้น

เทวดา

การสร้างพระเมรุมาศ จะสร้างรูปเทวดาประดับด้วย ทั้งที่เป็นรูปปั้น และรูปเขียน ตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ประกอบยอดเขาพระสุเมรุที่สถิตของเทวราชและทวยเทพ ซึ่งเป็นดินแดนสวรรค์การถวายพระเพลิงบนพระเมรุมาศ จึงเปรียบเสมือนถวายพระเพลิงบนเขาพระสุเมรุ จึงนำรูปเทวดามาประดับ

เครื่องประกอบ ประดับตกแต่ง บริเวณมณฑล พระเมรุมาศ พระเมรุ

สัตว์หิมพานต์

การสร้างสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระบรมศพและพระศพ เป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราชดังกล่าว เมื่อเสด็จสวรรคตจึงจัดสร้างพระเมรุ โดยมุ่งหมายให้เขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม ซึ่งดาษดื่นด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ ในอดีตมีการผูกหุ่นรูปสัตว์เข้าขบวนแห่พระบรมศพและพระศพไปสู่พระเมรุ และจัดทำโรงรูปสัตว์รายรอบพระเมรุมาศและพระเมรุ เป็นต้น

พระโกศไม้จันทน์

การจัดสร้างพระโกศจันทน์ เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อมีเจ้านายระดับสูงเสด็จสวรรคต พระบรมศพจะถูกอัญเชิญนำลงในพระโกศ ประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชประเพณี แม้ประชาชนสามัญก็อาจได้รับพระราชทานพระโกศได้ เป็นเครื่องแสดงแห่งเกียรติและยศศักดิ์ของผู้วายชนม์ ชนิดของโกศนั้น มีขนาดและรูปทรงต่างกันไปตามลำดับยศและความสำคัญของผู้ตาย เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบคุณงามความดีและบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติไว้

ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง

พระโกศส่วนนอกจะถูกเปลื้องออก เหลือแต่โกศลองในโลหะปิดทอง ซึ่งจะนำขึ้นตั้งบนจิตกาธานและหุ้มปิดด้วยพระโกศไม้จันทน์ ที่จะสร้างขึ้นในแต่ละครั้งที่มีพระราชพิธี นำขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ อันเป็นแบบอย่างมาแต่โบราณของการถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้านายชั้นสูง

*ผู้ให้ข้อมูล นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น* ที่มา www.finearts.go.th

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วน จะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

พระเมรุมาศ และพระเมรุ ต่างกันอย่างไร?

พระเมรุมาศ เป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีพระบรมศพ เป็นสิ่งที่แสดงพระเกียรติยศ พระเมรุมาศ จะเป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระราชพิธีพระศพพระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพรราช ที่ใช้คำราชาศัพท์ว่า สวรรคต

ส่วนพระเมรุ (อ่านว่า พระเมน) มีลักษณะเช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่จะมีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองอยู่ภายใน ใช้สำหรับพระพิธีพระศพในพระราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า ทิวงคต หรือสิ้นพระชนม์

ภาพจาก คุณอาร์ท

บทความแนะนำ