ประเพณี พระบรมศพ รัตนโกสินทร์ โบราณราชประเพณี

ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ จากยุค สุโขทัย ถึง รัตนโกสินทร์

Home / สาระความรู้ / ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ จากยุค สุโขทัย ถึง รัตนโกสินทร์

ในหนังสือไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย มีหลักฐานที่กล่าวถึง การจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดนั้น ปรากฏอยู่ ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีระกา พุทธศักราช 1888 พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช ว่า

ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ

จากยุค “สุโขทัย” ถึง “รัตนโกสินทร์”

“เมื่อนั้น จิงพระญาจักรพรรดิราชนั้น ธ ก็ทิพธรชงคต พิธรชะโลมด้วยกระแจะจวงจันทน์ แลจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพพระญาจักรพรรดิราชนั้น แล้วจึงเอาสำลีอันดีด้วยสะพัดได้แลร้อยคาบ มาห่อชั้นหนึ่ง แล้วเอาผ้าขาวอันละเอียดมาห่อชั้น 1 เล่า แล้วเอาสำลีอันละเอียดมาห่อเล่าดังนั้น นอกผ้าตราสังทั้งหลายเป็น 1000 ชั้น คือว่าห่อผ้า 500 ชั้น แลสำลีอันอ่อนนั้นก็ได้ 500 ชั้น จิงรดด้วย น้ำหอมอันอบแลได้ 100 คาบ แล้วเอาใส่ในโกศทองอันประดับ นิคำถมอ แลรจนาด้วยวรรณลวดลายทั้งหลายอันละเอียดนักหนา แล้วจิงยกศพไปสงสการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งห้าแล้วบูชาด้วย เข้าตอกดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นว่าสงสการเสร็จแล้ว คนทั้งหลาย จิงเก็บเอาธาตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นไปประจุแลก่อพระเจดีย์ แทบทางพบแห่งกลางเมืองนั้น แต่ให้คนทั้งหลายไปไหว้นบบูชา…”

ล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ไม่ปรากฏหลักฐานการพระศพ กระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวเฉพาะลักษณะ พระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการจัดพิธีกรรม การสร้างพระเมรุมาศในสมัยอยุธยายิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง 2 เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะสร้างพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่ กล่าวคือ

“ขนาดใหญ่ ขื่อ 7 วา 2 ศอก โดยสูง 2 เส้น 11 วาศอกคืบ
มียอด 5 ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณ
วิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง”

ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พรรณนาเฉพาะตอนถวายพระเพลิง แห่พระบรมอัฐิและพระอังคาร และงานพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

คงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้เช่นกัน ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัดทอนอย่างมากในรัชกาลที่ 5 ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการเป็นต้นว่า .. ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง 2 เส้นดังแต่กาลก่อน..

ครั้นรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึก ตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานออกพระเมรุ

เมื่อถึงกำหนดงานออกพระเมรุ จะอัญเชิญพระบรมศพออกไปถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งมีการแห่ไปทั้งทางบกทางน้ำ โดยเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงมาที่พระยานมาศสามลำคาน แล้วแห่ออกท่าราชวรดิษฐ์ไปลงเรือ พายตามน้ำไปขึ้นที่ท่าเตียน จากนั้นเชิญขึ้นพระยานมาศสามลำคานจากเรือไปจนถึงหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ จัดเป็นริ้วขบวนแห่เข้าพระเมรุที่ท้องสนามหลวง

การแห่กระบวนเป็นไปตามราชประเพณีแต่โบราณ เพื่อเป็นเกียรติยศ สำหรับการแห่ทางน้ำหรือชลมารค ในรัชกาลปัจจุบันได้ลดทอนเหลือแต่กระบวนแห่ทางบก โดยแห่จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นการเฉพาะสำหรับพระบรมศพและพระศพเกียรติยศจริง ๆ เท่านั้น โดยริ้วขบวนมักประกอบด้วยริ้วขบวน 6 ริ้วได้แก่

ริ้วกระบวนเชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศ

ริ้วกระบวนเชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศ พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคลื่อนผ่านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท

1.ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศพระยานมาศสามลำ คานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

2.ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง

3.ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศโดยพระยานมาศสามลำคานเวียนโดยอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ แล้วเชิญพระโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

4.ริ้วขบวนที่ 4 ในวันเก็บพระอัฐิ เชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยานและพระราชสรีรางคารโดยพระวอสีวิกากาญจน์ (หากเป็นพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้าจะใช้พระราชยานกงแทน) จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง

5.ริ้วขบวนที่ 5 ในวันเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน เชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐานที่พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

6.ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

โดยในคืนก่อนวันออกพระเมรุ จะจัดงานเครื่องสดอย่าง งานแทงหยวกและงานดอกไม้สด เพิ่มเติมในพระเมรุมาศ โดยงานแทงหยวกแต่งจิตกาธาน ด้วยเพราะหยวกฉ่ำน้ำช่วยไม่ให้ไฟโหมไหม้แรงเกินไป ส่วนงานดอกไม้สด ร้อยประดิษฐ์เป็นฉัตรและเครื่องแขวนต่าง ๆ ที่มาจากโบราณ ยังเป็นเครื่องกลบกลิ่น ส่วนในงานกลางคืนของคืนวันออกพระเมรุ จะจัดให้มีมหรสพสมโภชและจัดซุ้มให้ประชาชนมาถวายดอกไม้จันทน์

ของที่ระลึกเนื่องในงานออกพระเมรุ

การจัดทำของที่ระลึกในงานพระเมรุ ทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่ออุทิศเป็นบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ พระราชโอรสทรงร่วมแจกทานเป็นเสื้อผ้าและเงินทอง และสิ่งของเครื่องใช้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเครื่องสังเค็ด (ทานวัตถุที่จัดถวายพระสงฆ์ในงานปลงศพ) เช่น พัดรอง ธรรมาสน์เล็ก โต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องบริขาร เพื่อใช้ในการศาสนา

แบบเหรียญที่ระลึก ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ

แบบเหรียญที่ระลึก ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังคงจัดทำเครื่องสังเค็ดและถวายพระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนาเทศน์หรือพิจารณาผ้าบังสุกุล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกเป็นเงินพดด้วง

ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์รูปครุฑ

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงการจัดทำเป็นหีบเงินหรือกระเบื้องเคลือบ ในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก นอกจากนี้การพิมพ์หนังสือที่ระลึกก็เป็นที่นิยมเช่นกัน

เช่นงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกถึง 5 เล่ม

สำหรับของที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น นอกจากเครื่องสังเค็ดถวายพระสงฆ์แล้ว ยังมีการจัดทำหนังสือ และของที่ระลึกอื่น ๆ ทั้งเข็มที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก

ที่มา วิกิพีเดีย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง