หลายๆ ครั้ง เรามักจะวิจารณ์อย่างเดียว แต่ไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของผู้ที่ถูกวิจารณ์ ไม่เข้าใจว่าวิธีการพูดก็สำคัญเช่นเดียวกับคำพูด คำพูดเหมือนกันแต่วิธีการพูดต่างกัน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน และหลายๆ คน ก็มักคิดว่าความคิดของตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น – วิจารณ์อย่างไรให้สร้างสรรค์ ไม่ผิดใจกับคนอื่น
วิจารณ์อย่างไรให้สร้างสรรค์
ก่อนวิจารณ์คนอื่น ควรวิจารณ์ตัวเองก่อน
ก่อนที่จะวิจารณ์คนอื่น ควรวิจารณ์ตัวเองก่อน ว่าตัวคุณเองก็เป็นแบบนั้นหรือไม่ และคนที่ถูกวิจารณ์มักจะเลือกที่จะรับฟังคนที่เขาคิดว่าน่าเชื่อถือ และมีความเป็นผู้ใหญ่
วิจารณ์ผลงาน และการกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล
การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ คือการวิจารณ์ที่ผลงาน และการกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล การวิจารณ์ที่ตัวบุคคล นอกจากจะเป็นการวิจารณ์ที่อาจจะมีความคิดเห็นของตัวคุณเองร่วมด้วย หรือมีอคติแล้ว ยังก่อให้เกิดการขัดแย้งอีกด้วย
โทนเสียงก็สำคัญ
โทนเสียงสำคัญเป็นอย่างมากในการวิจารณ์ และการใช้โทนเสียงที่ถูกต้อง จะช่วยลดความขัดแย้ง และทำให้ผู้ถูกวิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของคุณด้วย เนื่องจากเป้าหมายของการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ คือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และทำให้ทุกฝ่ายพอใจ ไม่ใช่การเอาชนะ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้ถูกวิจารณ์รู้สึกอับอาย หรือเสียใจ
เจาะจงเป็นเรื่องๆ
ควรวิจารณ์โดยเจาะจงเป็นเรื่องๆ และควรอธิบายถึงเหตุผลให้ชัดเจน ทำไมคุณถึงคิดแบบนี้ เพราะอะไร ไม่ควรวิจารณ์โดยไม่ให้เหตุผล เพราะคนถูกวิจารณ์ก็ต้องการรู้ถึงเหตุผล เพื่อนำไปปรับปรุงเช่นกัน
เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ก่อนที่จะวิจารณ์คนอื่น ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำพูดไหนที่คุณไม่ชอบ ก็ไม่ควรนำมาใช้กับคนอื่น โทนเสียงแบบไหนที่คุณไม่อยากฟัง ก็ไม่ควรนำไปพูดกับคนอื่น คุณมีหัวใจ คนอื่นก็มีหัวใจเช่นกัน
ถูกที่ถูกเวลา
ถูกที่ถูกเวลาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่มีใครที่อยากจะให้คนอื่นมารับรู้ความผิดพลาดของตัวเอง และถ้าคนที่ถูกวิจารณ์ รับรู้ความผิดพลาดของตัวเอง และรู้สึกเสียใจ คุณก็ไม่ควรที่จะไปพูดซ้ำ แต่เปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจ และให้คำแนะนำแทนจะดีกว่า
ให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือ
หลายๆ คนมักจะชี้ให้เห็นเพียงข้อผิดพลาด แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ซึ่งหลายๆ ครั้ง คนที่ถูกวิจารณ์ก็อยากได้คำแนะนำ หรือแนวทางในการแก้ไขปับปรุง
ขอบคุณข้อมูลจาก : How to give constructive criticism?