ในปี 2562 ถือเป็นปีที่มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินกันถึง 2 ประทศ นอกจากประเทศไทยของเราแล้ว ก็ยังมีราชวงศ์ญี่ปุ่นที่มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ใหม่ และในขณะนี้พิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการของไทยก็สิ้นสุดลงแล้ว เราลองมาดูทางฝั่งญี่ปุ่นกันบ้างดีกว่าว่า กำหนดการจัดพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิญี่ปุ่น มีอะไรบ้าง
พิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิญี่ปุ่น
พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นที่จัดไปในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นั้นเป็นไปอย่างเรียบง่ายใช้เวลาประกอบพิธีไม่นาน อย่างในวันที่ 30 เมษายน เป็นพระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะที่ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น และวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับประเทศที่มีความพิถีพิถันอย่างประเทศญี่ปุ่นคงไม่มีพิธีเพียงแค่นี้อย่างแน่นอน
รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบ 4,700 ล้านบาท จัดพระราชพิธี
งบประมาณในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของไทยที่จัดยิ่งใหญ่ 3 วัน ยังใช้งบประมาณไป 1,000 ล้านบาท แต่ของญี่ปุ่นใช้งบประมาณกับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ถึง 1.66 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 4,700 ล้านบาท) ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงกว่าไทยกว่า 4 เท่า จะออกมาธรรมดาได้อย่างไร
งบในการจัดพิธีส่วนหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในพระราชพิธีหลักประมาณ 1,800 ล้านเยน มีค่าจัดเลี้ยงอาหาร 500 ล้านเยน และพระราชพิธีไดโจไซประมาณ 2,700 ล้านเยน
กำหนดการจัดพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิญี่ปุ่น
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิญี่ปุ่น นั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 แต่การเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่จะเริ่มที่เดือนตุลาคม เราลองมาดูกันดีกว่าว่า หลังจากนี้มีอะไรน่าสนใจ และน่าจับตามองกันบ้าง และย้อนไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพิธีที่จัดขึ้นมีอะไรบ้าง
30 เมษายน
พระราชพิธีสละราชสมบัติ ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ โดยพิธีจะเริ่มจาก สมเด็จพระจักรพรรดิทรงกล่าวรายงานการสละราชสมบัติ ที่พระวิหารคะฌิโกะโดะโกะโระ ( かしこどころ) , พระวิหารโคเรเด็น (こうれいでん) และพระวิหารฌินเด็น(しんでん) ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดให้คนทั่วโลกได้เห็น
ขั้นตอนที่เราเห็นกันเพียงแค่ 10 นาทีจะเป็นการออกเสด็จเสด็จฯ ออก ณ ห้องต้นสน ให้ตัวแทนประชาชนจำนวน 338 คนเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพร และสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงมีพระราชดำรัสในฐานะจักรพรรดิเป็นครั้งสุดท้าย
1 พฤษภาคม
พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของ สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารจะทรงเข้าสู่พระราชพิธีขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ โดยจะมีพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 3 สิ่ง อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิ ได้แก่ กระจก พระขรรค์ และอัญมณีมางาตามะ ซึ่งมีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ
4 พฤษภาคม
สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะจะเสด็จออกยังพระบัญชรที่พระราชวังหลวง ให้ประชาชนเข้าเฝ้า
22 ตุลาคม
ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคมคมเป็นต้นไป จะเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ โดยในช่วงเช้า สมเด็จพระจักรพรรดิทรงฉลองพระองค์ตามขนบราชสำนักญี่ปุ่นโบราณ เสด็จฯ ประทับที่ซุ้มปราการบุษบกทากามิกูระ และสมเด็จพระจักรพรรดินีจะประทับที่บุษบกมิโจได ที่อยู่ทางด้านขวา โดยมีข้าราชบริพาร คณะบุคคล และอาคันตุกะมาเข้าเฝ้าฯ
ในช่วงบ้าย ทั้งสองพระองค์ จะออกพบปะประชาชนในริ้วกระบวนรถยนต์พระที่นั่งโดยรถพระที่นั่งในพิธีครั้งนี้คือรถโตโยต้าเซนจูรี รถยนต์ชั้นสูงของญี่ปุ่น ส่วนครั้งพระราชพิธีของพระราชบิดา ทรงใช้โรลส์-รอยซ์ ซึ่งครั้งนั้นมีประชาชนมาเข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมีกว่า 110,000 คน และในช่วงบ่ายจะมีการเชิญอาคันตุกะมาเข้าเฝ้าฯ
26 ตุลาคม
เปิดให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักรับรอง
14-15 พฤศจิกายน
ช่วงเวลาเวลา 6 โมงเย็น ของวันที่ 14 พฤศจิกายน จนถึงประมาณตี 3 ครึ่งของวันที่ 15 พฤศจิกายนจะมี พระราชพิธีไดโจไซ ซึ่งจัดในเขตเขตพระราชฐาน จะเป็นพิธีการรับประทานอาหารร่วมกับเทพเจ้า และภาวนาขอให้ประเทศกับประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ในพิธีจะมีการใช้กระดองเต่าเสี่ยงทายว่าจะเลือกผลิตข้าวบนที่นาผืนไหน เมื่อเลือกแล้ว และผลิตจนได้ผลก็จะถวายข้าวแด่เทพเจ้าโดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิร่วมเสวย
19 เมษายน 2563
หลังจากที่เฉลิมฉลองกันไปแล้ว ก็จะต้องมี พระราชพิธีแต่งตั้งรัชทายาท ประเทศญี่ปุ่นจะมีรัชทายาทลำดับที่ 1 คือ เจ้าชายฟูมิฮิโตะ พระอนุชาของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ และรัชทายาทลำดับที่ 2 ได้แก่ เจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสของเจ้าชายฟูมิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น
ที่มา : mthai.com , สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ , thestandard.co
ภาพ : mainichi.jp , asia.nikkei.com , www.japantimes.co.jp