เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งฉากที่มีความละเมียดละไม น่าติดตามเป็นที่สุด สำหรับฉากการแต่งโคลง-กลอน ประชันกันใต้แสงพระจันทร์อันงดงามของคุณพี่หมื่นสุนทรเทวา แม่หญิงการะเกด และแม่หญิงจันทร์วาด ในละครสุดโด่งดังที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ “บุพเพสันนิวาส” โดยหลังจากที่ฉากนี้ได้ออนแอร์ออกมาให้แฟนๆ ได้ชมกันนั้น ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ละครต้องผิดหวังกันเลย ทำให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มไปในบทโคลง-กลอนที่มีความไพเราะน่าฟังและความโรแมนติกของบรรยากาศในยามค่ำคืนที่งดงาม เรียกเสียงชื่นชมจากแฟนๆ ได้อย่างมากมายเลยทีเดียว
ความหมาย โคลง-กลอน บุพเพสันนิวาส
แต่สำหรับแฟนๆ ละครคนไหน ที่กำลังงงอยู่ว่าในโคลง-กลอนของคุณพี่หมื่นสุนทรเทวา แม่หญิงการะเกด และแม่หญิงจันทร์วาด มีความหมายว่าอย่างไรกันบ้าง ในบทความ แคมปัส-สตาร์ ได้หาคำตอบมาให้กันแล้วจ๊ะ บอกได้เลยว่าแต่ละโคลง-กลอน มีความหมายที่ไพเราะมากๆ ตามมาดูกันเลย…
โคลง แม่หญิงจันทร์วาด
ตะวันลับเหลี่ยมเจ้า เจียมจันทร์
แสงบ่เรืองกระสัน สู่ฟ้า
เมฆลอยบังพลัน สุดส่อง
คิดจึ่งเจียมตัวข้า ต่ำต้อยเทียมดิน
คำแปล : พระอาทิตย์ลับฟ้า จันทร์แทนที่ ฟ้ามืดไร้แสงแล้ว ยิ่งเมฆบังแล้วหมดโอกาสที่จะเห็นแสงจันทร์ คิดแล้วข้าเจียมตัวว่าอยู่บนดิน คงไม่มีโอกาสชมแสงจันทร์
โคลง หมื่นสุนทรเทวา
ตะวันลับเหลี่ยมเจ้า เมฆบัง
นกส่งเสียงยังรัง แซ่ซ้อง
จันทร์ฤาแลหลัง ถึงเมฆ
ดาวจึ่งเจียมจิตป้อง ไป่สู้เทียมจันทร์
คำแปล : ตะวันลับฟ้าไป นกส่งเสียงกลับรังดังระงม จันทร์นั้นอยู่หลังเมฆบัง ดาวจะพยายามไปอยู่คู่ดวงจันทร์ให้ได้
กลอนหก แม่หญิงการะเกด
(กนกนคร พระนิพนธ์ น.ม.ส. )
หาแถงแง่ฟ้าหาง่าย เบื่อหน่ายบงนักพักตร์ผิน
หาเดือนเพื่อนเถินเดินดิน คือนิลนัยนาหาดาย
เพ็ญเดือนเพื่อนดินสิ้นหา เพ็ญเดือนเลื่อนฟ้าหาง่าย
เดือนเดินแดนดินนิลพราย เดือนฉายเวหาสปราศนิล
คำแปล : พระจันทร์บนฟ้า เงยหน้ามองก็เจอ หาง่ายจะตาย เบื่อจะมองแล้ว แต่คนตาสวยดุจนิล เสมือนดวงจันทร์บนดินสิหายาก ไม่ต้องไปหาเลย คงมีแค่เพียงคนเดียว แม้แต่จันทร์บนฟ้ายังตาสวยไม่เท่าเดือนบนดินเลย คือนางนั้นเองที่ตาสวยกว่าจันทร์
สาระน่ารู้ส่งท้าย
ฉันทลักษณ์
ฉันทลักษณ์ (กวีนิพนธ์ไทย) หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อ ได้ให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ว่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์ และได้ให้ความหมายของคำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น
โดยมีข้อบังคับจำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือร้อยกรองไทย นั่นเอง
ร้อยกรองไทยมีความหมาย 2 นัย นัยหนึ่งหมายถึงการแต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ อีกนัยหนึ่งหมายถึงถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบทบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น กวีนิพนธ์ บทกวี บทประพันธ์ กวีวัจนะ ลำนำ บทกลอน กาพย์กลอน กลอนกานต์ กานต์ รวมทั้งคำว่าฉันท์ กาพย์ และกลอนด้วย
โคลง
โดยที่ โคลง เป็นคำประพันธ์ที่บังคับวรรณยุกต์ คือ เอก โท และบังคับสัมผัส มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นคำประพันธ์พื้นเมืองไทยทางเหนือและอีสานก่อนจะแพร่หลายมายังภาคกลาง และโคลงในวรรณคดีไทยได้ถูกจำแนกออกเป็นดังนี้
1. โคลงสอง
- โคลงสองสุภาพ
- โคลงสองดั้น
2. โคลงสาม
- โคลงสามสุภาพ
- โคลงสามดั้น
3. โคลงสี่
- โคลงสี่สุภาพ
- โคลงสี่ดั้น
4. โคลงห้า
กลอน
กลอน เป็นลักษณะคำประพันธ์ไทยที่ฉันทลักษณ์ประกอบด้วยลักษณะบังคับ 3 ประการคือ คณะ จำนวนคำ และสัมผัส ไม่มีบังคับเอกโทและครุลหุ เชื่อกันว่าเป็นคำประพันธ์ท้องถิ่นของไทยแถบภาคกลางและภาคใต้ โดยได้ถูกจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. กลอนจำแนกตามฉันทลักษณ์ สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.1 จำแนกตามจำนวนคำ จะแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- กลอนกำหนดจำนวนคำเท่ากันทุกวรรค (กลอนสุภาพ) ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
- กลอนกำหนดจำนวนคำในวรรคโดยประมาณ ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนบทละคร กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนนิทาน และกลอนชาวบ้าน
1.2 จำแนกตามคำขึ้นต้น จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- กลอนบังคับคำขึ้นต้น ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภาและกลอนบทละคร
- กลอนไม่บังคับคำขึ้นต้น ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนนิราศ กลอนนิทาน และกลอนเพลงยาว
1.3 จำแนกตามคณะ จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- กลอนไม่ส่งสัมผัสระหว่างคณะ ได้แก่ กลอนดอกสร้อย และกลอนสักวา
- กลอนส่งสัมผัสระหว่างคณะ ได้แก่ กลอนบทละคร กลอนเสภา กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
1.4 จำแนกตามบทขึ้นต้น จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- กลอนบังคับบทขึ้นต้นเต็มบท (4 วรรค) ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา และกลอนบทละคร
- กลอนบังคับบทขึ้นต้นไม่เต็มบท (3 วรรค) ได้แก่ กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว และกลอนนิทาน
1.5 จำแนกตามการส่งสัมผัส จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนสุภาพ ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว และกลอนบทละคร
- กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนชาวบ้าน ได้แก่ กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิกคือ กลอนในบทร้องเล่นของเด็ก และกลอนส่งสัมผัสแบบกลอนหัวเดียวคือ กลอนเพลงชาวบ้าน เช่น เพลงเรือ ลำตัด เพลงอีแซว เป็นต้น
(กลอนสังขลิกและกลอนหัวเดียว ปรากกฎเฉพาะในร้อยกรองมุขปาฐะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลอนชาวบ้าน)
2. กลอนจำแนกตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 กลอนอ่าน เป็นกลอนที่ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายแต่งไว้สำหรับอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน แบ่งเป็น 8 ชนิด ได้แก่ กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนนิทาน กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
2.2 กลอนร้อง เป็นกลอนที่แต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับการขับโต้ตอบกัน การขับลำนำเพื่อความไพเราะ และการขับร้องประกอบการแสดงเพื่อความบันเทิง แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนบทละคร และกลอนเพลงชาวบ้าน
เบลล่า แฮปปี้ บุพเพสันนิวาส เรตติ้งพุ่ง ไม่ซี! ถูกโยงข่าวอักษรย่อ
บทความที่น่าสนใจ
- 18 เรื่องน่ารู้ของผู้ชายที่มีชื่อว่า โป๊ป-ธนวรรธน์ หรือ หมื่นสุนทรเทวา บุพเพสันนิวาส
- คณะโบราณคดี เรียนอะไรบ้าง? จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง? | 7 ขั้นตอนการสมัคร SU-TCAS
- อยุธยาคิ้วท์บอย รวมหนุ่มๆ งานดี ในละคร บุพเพสันนิวาส
- ปราง-กัญญ์ณรัณ หรือ แม่หญิงจันทร์วาด บุพเพสันนิวาส ดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 ม.มหิดล
- 10 เรื่องน่ารู้ ของพระเอกสายฮา ปั้นจั่น-ปรมะ หรือ หมื่นเรืองราชภักดี/ เรืองฤทธิ์
- ที่มาของคำว่า สวัสดี, ราตรีสวัสดิ์, อรุณสวัสดิ์ เริ่มใช้ตอนไหน ใครใช้เป็นคนแรก
- พระปีย์ หรือ อ้ายเตี้ย โอรสบุญธรรม ที่พระนารายณ์ทรงรักมาก
- รวมข้อมูลตัวละครจากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย
- ไขข้อสงสัย? เมื่อแม่หญิงการะเกดมีรอบเดือน ทำไมต้อง “ขี่ม้า”
ข้อมูลและภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, pantip.com, https://mello.me