ณ ปัจจุบันเวลานี้หากใครไม่อยากเป็นคนล้าสมัย ตกเทรนด์ ต้องเล่น “เฟซ บุ๊ค” (Face book) กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในชุมชน สังคมออฟฟิศ และแวดวงวัยรุ่นนักเรียน นักศึกษา ว่ากันว่าสามารถถ่ายทอดความสนุก หรรษา และความคิด ออกสู่เหล่าสมาชิกได้อย่างโดนใจ
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนพี่น้องในสำนักงานหลายคนถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครือข่ายใยแมงมุมของสังคม “เฟซบุ๊ค” อย่างไม่น่าเชื่อ
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการพัฒนาของเทคโนโลยีเกิดขึ้นทันตาเห็นจริงๆ ไม่ต้องรอให้ส่งผลในชาติหน้าอย่างเรื่องของ “ใครบางคน”
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเฟซบุ๊ค
เริ่มจากเมื่อก่อนที่ฮิต “ฮิ ห้า” หรือ hi 5 กันเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ความต่างของสังคม hi 5 ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มเด็กมากกว่าเฟซ บุ๊ค เพราะความสับสนและลูกเล่นง่ายกว่า โดยเฉพาะความโก้เก๋เป็นอินเตอร์ก็เหมือนจะน้อยกว่าด้วย
เพื่อนในสำนักงานหลายคนจึงเริ่มหันเหเข้าสู่สังคม เฟซ บุ๊ค บางคนต้องการเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ บางคนอยากติดต่อกับเพื่อนเก่า หรือบางคนต้องการหาคนรู้ใจ ผ่านเครือข่าย เฟซ บุ๊ค
“แต่ละคนมีเหตุผลแตกต่างกันไป”
ยกตัวอย่างจากเพื่อนพี่น้องที่เจอะเจอมากับตาตัวเอง “พี่สาวใหญ่” คนหนึ่งในสำนักงานมีเหตุผลของการเล่นเฟซ บุ๊ค ว่า “อยากลองของใหม่” ส่วน
“พี่สาวคนรอง” ผิวคล้ำอีกคน ต้องการติดต่อสื่อสารกับน้องสาวของตัวเองที่อยู่แดนไกลคนละทวีป โดยเฉพาะอยากเห็นหน้าค่าตาว่ายังดูดีมีชีวิตสุขสบายมากน้อยแค่ไหน ที่แน่ๆ ไม่ต้องเป็นสปายเข้าไปใช้โดยผ่าน “ไอดี” ของคนอื่น
ชายสูงวัย อายุจวนเจียนจะหกสิบในสำนักงานก็ยังเล่นเฟซ บุ๊ค แต่เหตุผลของชายผู้นี้กลัวว่าจะ “เอ๊าต์” กลายเป็นคนตกเทรนด์คุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง ดังนั้น เมื่อ “พวกเด็กๆ” เล่นอะไรกัน จึงมีมอตโต้ประจำใจ “ขอฉันแจมด้วยคน”
แล้วเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ใครว่าเทคโนโลยีเรียนรู้ได้เฉพาะวัยรุ่นคนหนุ่มสาว ชายสูงวัยเพื่อนในสำนักงานผู้นี้ ช่ำชองขนาดอัพโหลดภาพขึ้นเฟซ บุ๊ค ได้ด้วยตัวเอง ทำตามขั้นตอนถูกต้องเป๊ะๆ แถมยังมีเวลาว่างเล่นเกม อย่าง “ฟารม์วิล” ได้คล่องแคล่วอีกด้วย
ผลของการเล่นเฟซ บุ๊ค สร้างรอยยิ้ม ขำขัน ปรากฏขึ้นบนใบหน้าทุกครั้งที่เข้าไปอ่านหรือตอบข้อความ นี่ยังไม่นับรวมการเล่นเกมออนไลน์บน แอฟพิเคชั่นของเฟซ บุ๊ค
ภาพที่เกิดขึ้นหลังว่างงานทุกเย็น เหล่าสมาชิกนั่งอ่าน “ฟรีซแบค” หรือ “คอมเม้นท์” จากเพื่อนพร้อมเสียงหัวเราะคิกคัก
“ถือเป็นการผ่อนคลายจากความเครียด”
กลับมาดูเจ้าตัว “เฟซบุ๊ค” กันบ้าง แท้ที่จริงแล้วเจ้าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่มีมานานแล้วในแถบยุโรป เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 โดยนาย Mark Zuckerburg ตอนนั้น เปิดให้เข้าใช้เฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเท่านั้น
แล้วเว็บนี้ก็ดังขึ้นมาในชั่วพริบตา เมื่อสมาชิกตอบรับเพียบจนต้องแพร่กระจายไปที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ
ชื่อ “เฟซ บุ๊ค” มากจากโรงเรียนเก่าในระดับมัธยมปลายของนายมาร์ค ที่ชื่อ “ฟิลิปส์ เอ็กเซเตอร์ อะคาเดมี” โดยที่โรงเรียนนี้จะมีหนังสืออยู่หนึ่งเล่มที่ชื่อว่า “The Exeter Face Book” ซึ่งจะส่งต่อๆ กันไปให้นักเรียนคนอื่นๆ ได้รู้จักเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ซึ่งเฟซ บุ๊ค นี้จริงๆ แล้วก็เป็นหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น จนเมื่อวันหนึ่ง มาร์คได้เปลี่ยนแปลงและนำมันเข้าสู่โลกของอินเตอร์เน็ต
สังคมเฟซ บุ๊ค กำลังกลายเป็นสิ่งฮิต พูดติดปาก แพร่หลายไปในทุกระดับและนำไปใช้งานในหลายด้าน ขนาดรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยังเลือกใช้ เฟซ บุ๊ค เพื่อเข้าถึงสังคมชาวไซเบอร์ และยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนในรัฐบาลชุดนี้ก็เล่นเฟซ บุ๊ค เช่นกัน
วันนี้หากใครเป็นสมาชิกเครือข่ายสังคมเฟซ บุ๊ค คุณอาจจะมีเพื่อนเป็นนายกรัฐมนตรี หรืออดีตนายกรัฐมนตรี หรือเป็นเพื่อนกับคนอยู่ไกลถึงถิ่นดูไบ ก็เป็นได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เล่นไปแล้วอย่าลืมว่า “สิ่งที่ปรากฏบนเฟซ บุ๊ค ไม่ใช่เรื่องจริง-ความจริง ทุกอย่าง”
เริ่มตั้งแต่ชื่อ นามสกุล หรือ รูปภาพ บนหน้าจอ พึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ไม่ใช่ของจริง” เพราะทุกอย่างถูกสร้างขึ้นตามใจนึก
“หลายคนจึงเรียกเฟซบุ๊ควันนี้ว่า “เฟก บุ๊ค” (fake book)
คอลัมน์ ร้อยสรรพรส _ โดย เจริด ทองมา ที่มา นสพ.มติชน