นางสงกรานต์ วันสงกรานต์

นางทุงสะเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี 2562 และ ประวัตินางสงกรานต์ทั้ง 7

Home / เรื่องทั่วไป / นางทุงสะเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี 2562 และ ประวัตินางสงกรานต์ทั้ง 7

ใกล้จะถึงเทศกาลแห่งความชุ่มช่ำของไทยแล้วกับ “วันสงกรานต์” ซึ่งตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี เปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ของไทย มีประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ อาทิ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เล่นน้ำ ก่อเจดีย์ทราย เป็นต้น

นางสงกรานต์ ประจำปี 2562

ในปีนี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ออกประกาศสงกรานต์ปี 2562 ว่า “ปีกุน (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุน้ำ) เอกศกจุลศักราช 1381 ทางจันทรคติเป็นปกติมาสวาร ทางสุริยคติเป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 เวลา 15 นาฬิกา 3 นาที 3 วินาที

“นางสงกรานต์ ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้ว-ปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑ เป็นพาหนะ”

วันที่ 16 เมษายน เวลา 19.12 น. เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1381 ปีนี้ วันจันทร์เป็นธงชัย วันเสาร์เป็นอธิบดี วันอาทิตย์เป็นอุบาทว์ วันจันทร์เป็นโลกาวินาศ ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 3 ตัว

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 2 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินา จะเกิดกิมิชาติ (ด้วงกับแมลง) จะได้ผลกึ่งเสียกึ่งเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปถวี (ดิน) น้ำงามพอดี

ตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7

ตำนานของนางสงกรานต์มีบันทึกที่จารึกไว้ที่วันพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เรื่องเกิดขึ้นจากการตอบปัญหาระหว่าง ‘ท้าวกบิลพรหม’ และ ‘ธรรมบาลกุมาร’ โดยท้าวกบิลพรหมได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถามว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย โดยให้เวลาในการคิดคำตอบทั้งหมด 7 วัน

ธรรมบาลกุมารนั้นสามารถตอบคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามได้ครบทุกข้อ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องถูกตัดเศียรตามคำสัญญา ท้าวกบิลพรหมจึงเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน เพื่อให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับเศียร เพราะเศียรของท้าวกบิลพรหมนั้น ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง หลังจากตัดเศียรก็จะอัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

จากนั้นมาทุกๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ซึ่งแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้

นางสงกรานต์ทุงษเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

ภาพจาก : writer.dek-d.com

นางสงกรานต์โคราดเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

ภาพจาก : writer.dek-d.com

นางสงกรานต์รากษสเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)


ภาพจาก : writer.dek-d.com

นางสงกรานต์มณฑาเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)


ภาพจาก : matichon.co.th

นางสงกรานต์กิริณีเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา(ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)


ภาพจาก : writer.dek-d.com

นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)


ภาพจาก scoop.mthai.com

นางสงกรานต์มโหทรเทวี

นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง,

บทความแนะนำ