กว่าจะมาเป็น ปืนฉีดน้ำ – เมื่อนึกถึงอุปกรณ์ที่ต้องมีติดตัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง “ปืนฉีดน้ำ” มาเป็นอันดับแรก อุปกรณ์ที่ช่วยให้การเล่นน้ำสนุกขึ้น เพราะช่วยผ่อนแรงแทนการตักน้ำสาดทีละครั้ง แถมยังมีให้เลือกหลายขนาด ตั้งแต่กระบอกจิ๋วเท่าฝ่ามือ ไปจนถึงรุ่นที่มีแกลลอนขนาดใหญ่สะพานหลังก็มีเช่นกัน ซึ่งฟังก์ชั่นการใช้งานที่พกพาง่ายใช้สะดวกนี้ ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่ต้องซื้อไว้ใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้
กว่าจะมาเป็น ปืนฉีดน้ำ .. ไอเท็มสุดฮิต
ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering : TSE) จะขอพาย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของ “ปืนฉีดน้ำ” ที่เกิดขึ้นจากไอเดียของวิศวกรท่านหนึ่งในต่างประเทศ กับ 4 เรื่องสุดว้าว กว่าจะมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ฮิตที่สุดในเทศกาลสงกรานต์
เปิดประวัติวิศวกรผู้คิดค้นปืนฉีดน้ำคนแรกของโลก
เชื่อหรือไม่ว่า “ปืนฉีดน้ำ” ที่เราใช้เล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ทุกปีนั้น เกิดจากการทดลองของนาย ลอนนี จอห์นสัน วิศวกรชาวอเมริกัน ที่ทำงานอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการทดลองจรวดให้กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) หรือ นาซา ซึ่งหลายคนคงคิดไม่ถึงว่าเหตุใด วิศวกรท่านนี้จึงได้คิดค้นและออกแบบปืนฉีดน้ำ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ใกล้เคียงกับภารกิจของนาซาเลย
แต่ลืมว่ากว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะก้าวหน้ามาถึงปัจจุบันนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มาจากไอเดียการลองผิดลองถูก ซึ่งไอเดียของปืนฉีดน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งในการทดลองเทคโนโลยีอวกาศนั่นเอง
“ปืนฉีดน้ำ” เกิดจากเรื่องบังเอิญที่ไม่ธรรมดา
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1982 วิศวกรนาซาท่านนี้ กำลังพัฒนาปั๊มความร้อนโดยใช้น้ำอัดความดัน เป็นตัวควบคุมอุณหภูมิแทนสารเคมีชนิดหนึ่ง และในระหว่างที่เขาเอางานชิ้นนั้นกลับไปทดลองต่อที่บ้าน โดยได้นำปั๊มดังกล่าวไปลองเปิดมันในอ่างอาบน้ำ ปรากฎว่า มีน้ำพุ่งออกมาจากบริเวณหัวฉีดของปั๊ม โดยฉีดได้ไกลจากผนังด้านหนึ่ง ไปถึงผนังอีกด้าน ซึ่งจากความบังเอิญที่เกิดขึ้น ทำให้วิศวกรท่านนี้นึกสนุก อยากพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “ปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศ” ในขณะนั้นให้กลายของเล่นสำหรับเด็ก และคิดว่าน่าจะต่อยอดเป็นธุรกิจได้อีกด้วย
จากสิ่งประดิษฐ์ในห้องทดลอง สู่ของเล่นวางขายในท้องตลาด
หลังจากที่ค้นพบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้โดยบังเอิญแล้ว ลอนนี บอกว่าเขาคือผู้ที่คิดค้นต้นแบบ “ปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศ” ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มออกแบบเพื่อประดิษฐ์ชิ้นส่วน แล้วประกอบแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน จนได้ผลงานต้นแบบชิ้นแรก โดยได้นำผลงานชิ้นแรกไปให้ลูกสาวกับเพื่อนทหารได้ทดลองเล่น ผลปรากฏว่า ทุกคนประทับใจสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มาก ทำให้ลอนนีอยากจะเปิดบริษัทและโรงงานผลิตของเล่นด้วยตัวเอง แต่พบว่าโปรเจคนี้มีต้นทุกสูงมาก จึงตระเวนหาบริษัทที่จะมาซื้อลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้
และในเวลาต่อมาบริษัท ลารามิ คอร์ปอเรชั่น (Larami Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศที่มีชื่อว่า เพาเวอร์เดรนเชอร์ (Power Drencher) ออกสู่ตลาดเป็นเวลากว่า 8 ปี
ล้มลุกคลุกคลาน จนกลายเป็นของเล่นขายดีติดอันดับโลก
ในช่วงแรกปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศ “เพาเวอร์เดรนเชอร์” ทำตลาดได้ไม่ดีนัก ทำให้บริษัทผู้ผลิตตัดสินใจยกเครื่องแผนการตลาดใหม่ และเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิมเป็น “ซุปเปอร์โซกเกอร์” (Super Soaker) ซึ่งจากการรีแบรนด์และปรับแผนการตลาดใหม่ครั้งนี้ ทำให้ยอดขายในปี ค.ศ.1991 สูงขึ้นแบบถล่มทลายถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และติดอันดับ 1 ใน 20 ของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลกในปีนั้นในทันที ซึ่งแน่นอนว่าชื่อเสียงของ “ซุปเปอร์โซกเกอร์” ได้โด่งดังมาถึงประเทศไทยด้วยในเวลาต่อมา จึงเป็นที่มาของ “ปืนฉีดน้ำ” ไอเท็มสุดฮิตของเทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบัน
ความสำเร็จจากความบังเอิญ …
แม้ว่าไอเดียเริ่มแรกของ “ปืนฉีดน้ำ” จะมาจากความบังเอิญ แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญเพียงอย่างเดียว เพราะหลากหลายไอเดียสิ่งประดิษฐ์ล้วนสะท้อนวิวัฒนาการของการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เป็นเพราะคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นวิศวกรมืออาชีพ ที่ต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ กล้าลองผิดลองถูก และความเพียรพยายาม ซึ่ง TSE เชื่อมั่นว่าคนไทยก็สามารถทำเรื่องบังเอิญที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ และพร้อมที่จะส่งเสริมผลักดันให้นักศึกษา ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม นายวัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ให้ความเห็นว่า การเล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแรงดันน้ำของปืนฉีดน้ำที่มีขนาดใหญ่ หรือ แบบท่อพีวีซี ที่อาจทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บถึงขั้นบอดได้ โดยควรเลือกซื้อปืนฉีดน้ำที่มีแรงดันน้อย ฉีดน้ำออกมาเป็นลักษณะฝอยกระจายไม่พุ่งไปไกลเป็นเส้นตรงอย่างเดียว ซึ่งเพียงพอต่อการเล่นเพื่อความสนุกสนาน และยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
โดยผู้ที่สนใจสามรถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT