ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับเราเป็นอย่างมาก ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง จะโพสต์ จะเขียน จะแชร์อะไรก็ได้ ทำให้เราที่เป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารต้องมีสติ และมีวิจารณญาณเป็นอย่างมากในการเสพข้อมูลต่าง ๆ อย่างกรณีของ 13 ชีวิตที่ติดถ้ำ ก็ทำให้เราเห็นอะไรมากมาย มีการแชร์ขอเรี่ยไรเงินช่วยเหลือบ้างล่ะ มีคนออกมาบอกว่าเจอเด็ก ๆ แล้วบ้างล่ะ อั้ม พัชราภา บริจาคเงินช่วยเหลือบ้างล่ะ รวมไปถึงข้อมูลผิด ๆ ที่แชร์ต่อ ๆ กันเต็มไปหมด เราอาจจะไปห้ามพวกที่ปล่อยข่าวปลอมไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะตามข่าวอะไรก็มีสติกันหน่อยนะ ลองไปดู เช็กก่อนแชร์ ข่าวที่คุณเห็น เรื่องจริงหรือจ้อจี้?
วิธีตรวจสอบข่าวปลอม เช็กข่าวก่อนแชร์
ตั้งสติ อย่าเพิ่งเชื่อ
บางคนพอเห็นข่าวปุ๊บ ใจด่วนเชื่อไปก่อนเลย ไม่เช็กอะไรทั้งนั้น แล้วเชื่อคนเดียวไม่พอนะ มีการแชร์ต่ออี้กกก ทางที่ดีพอเห็นข่าวปุ๊บ ตั้งสติก่อนค่ะ อย่าเพิ่งเชื่อ ถึงในข่าวอาจจะมีการแคปหน้าจอนู่นนี่มาเป็นหลักฐาน แต่นี่มันยุคไหนแล้วคะ โฟโต้ชอปก้มีเด้ออ เขาจะลวง จะหลอกเราแค่ไหนก็ได้ อยู่ที่เรานี่แหละจะสตรองแค่ไหน
อย่าอ่านแค่หัวข้อข่าว
ที่เขาว่ากันว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด ก็อาจจะจริง บางคนไม่อ่านหรอก เนื้อหาในข่าวน่ะ อ่านแค่หัวข้อข่าวปุ๊บ กดแชร์ปั๊บ เฮ้ยแก ใจเย็นก่อน! บางข่าวก็ชอบพาดหัวชวนให้คนสนใจ ชวนให้คนคลิ๊กเข้าไปอ่าน ถึงแม้จะเป็นเว็บข่าวที่น่าเชื่อถือแค่ไหน ก็ไม่ควรจะอ่านหัวข้อข่าวนะ
ดูแหล่งที่มาก่อนเลย
ข่าวนั้นมันมาจากไหน ใครเป็นคนเขียน เอามาจากเว็บข่าวที่น่าเชื่อถือ หรือเจอบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือมีคนแชร์กันมาอีกที ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือส่งต่อ ๆ กันมาในไลน์ แล้วนำไปตรวจสอบว่าข่าวนี้มีที่มาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากเว็บข่าวโดยตรง ลองเอาไปเซิร์ชในอากู๋ google หรือเข้าเว็บข่าวเพื่่อหาแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ถ้าหาแล้วไม่เจอ ก็คิดไว้ก่อนเลยว่ามันไม่จริง!
ดูรายละเอียดข่าว และองค์ประกอบอื่น ๆ
นอกจากแหล่งข่าวแล้ว วันเดือนปีที่เขียนข่าวก็สำคัญไม่แพ้กัน บ่างข่าวอาจจะเป็นข่าวเก่าที่คนไปขุดมาแชร์ต่อ ๆ กันมา หรือถ้าในข่าวนั้นมีภาพ รวมไปถึงคนเขียนข่าว และเนื้อหาอื่น ๆ ในข่าว อย่างการเขียน การใช้ภาษาไทยถูกต้องมั้ย สะกดผิดทุกบรรทัด หรือเขียนข่าวเป็นภาษาสก๊อยหรือเปล่า
อีกวิธีที่แนะนำ ถ้าในข่าวมีภาพประกอบ ลองเอาภาพไปเซิร์ชในกูเกิ้ลดูก่อน เพราะรูปนั้นอาจจะเอามาจากเว็บอื่น ข่าวอื่น ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวเลยก็เป็นได้
ก่อนจะเอามาตั้งคำถาม หาข้อมูลด้วยตัวเองก่อน
ไม่ใช่ว่าเห็นข่าวปุ๊บ ก็กดแชร์ถามคนอื่นก่อนเลย “ข่าวนี้จริงมั้ยคะ?” มันก็ดีที่คุณตั้งคำถามก่อนที่จะเชื่ออย่างสนิทใจ แต่การแชร์แบบนั้นก็อาจจะยิ่งทำให้คนอื่นเห็นแล้วเข้าใจผิดกันได้นะ ทางที่ดีลองหาข้อมูลสักนิด อาจจะลองเซิร์ชกูเกิ้ลดู หรือลองย้อนดูในแท็ก # ที่เดี๋ยวนี้นิยมใช้กัน ก็เป็นอีกวิธีที่ง่ายและสะดวก
ถามผู้รู้
อะ ในเมื่อมันไม่มีทางอื่นแล้ว วิธีนี้แหละดีที่สุด อาจจะถามไปตามสำนักข่าวต่าง ๆ หรือถามคนที่รู้จริง ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ หรือคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ รับรองว่าจะได้ข้อเท็จจริงกลับมาอย่างแน่นอน
รู้ว่าปลอมก็บอกต่อด้วย
พอเช็กเสร็จแล้ว รู้แล้วว่าข่าวนั้นมันปลอม ก็อย่าลืมบอกต่อให้คนอื่นรู้กันด้วย หรือถ้าเกิดพลั้งมือแชร์ไปก่อนหน้านี้แล้ว พอรู้ว่าปลอมก็อย่าลืมกลับไปลบด้วยนะ
Written by: Typrn
บทความแนะนำ
- วิธีเอาตัวรอด เมื่อต้องลอยคอกลางทะเล – สอนลอยตัวในน้ำแบบง่ายๆ
- 6 เทคนิค เอาตัวรอด จากภัยเรือล่ม
- วิธีเอาตัวรอดในป่า (1) ก่อกองไฟ สัญลักษณ์ต่างๆ การสร้างที่พัก
- 2 เทคนิคเอาตัวรอด เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน | พลาดตกจากที่สูง
- 7 วิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอสถานการณ์ลิฟต์ค้าง
- พาไปส่อง MRE หรือ อาหารสนาม เสบียงของทหารในสมรภูมิรบ ของแต่ละประเทศ