cyberbullying โซเชียลมีเดีย โลกโซเชียล

6 พฤติกรรม รังแกผู้อื่นผ่านโลกออนไลน์ ที่คุณอาจทำโดยไม่รู้ตัว Cyberbullying

Home / เรื่องทั่วไป / 6 พฤติกรรม รังแกผู้อื่นผ่านโลกออนไลน์ ที่คุณอาจทำโดยไม่รู้ตัว Cyberbullying

Cyberbullying หรือการแกล้งในโลกออนไลน์ คือการรังแกผู้อื่นผ่านทางโลกออนไลน์ ทั้งการด่าทอ กล่าวหา ใช้ถ้อยคำเสียดสีต่อว่าผู้อื่น คนที่ทำอาจจะได้ความสะใจ บางคนอาจจะไม่ได้คิดอะไร คนพูดพูดไปไม่ถึงชั่วโมงอาจจะลืม แต่สำหรับเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งแล้วคำพูดเหล่านั้นมันจะฝังอยู่ในใจของเขาไปตลอด และอาจทำให้ชีวิตของเขาพังไปเลยก็ได้

6 Cyberbullying คุณอาจกำลังทำอยู่ โดยไม่รู้ตัว

การโจมตี ขู่ทำร้าย หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย

พฤติกรรมนี้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ตื่นเช้ามาเลื่อนหน้าฟีดดูก็เอาละ นังจุ๋มตั้งสเตตัสด่ายัยจิ๋ม พี่เพ็ญแชร์โพสต์มาแล้วพิมพ์แคปชั่นด่าเจ้าของโพสต์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำรุนแรงคำหยาบคายด่าทอ รวมถึงการขู่ว่าจะทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นในแชทส่วนตัว และโพสต์สาธารณะในหน้าวอลล์ของตัวเอง หรือหน้าวอลล์ของเหยื่อก็ถือว่าเป็น Cyberbullying ทั้งหมด

คุกคามทางเพศแบบออนไลน์

การคุกคามทางเพศบนโซเชียลมีเดียเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคอมเมนต์ต่าง ๆ หรือใน facebook live อย่างเช่น “ครางชื่อเชอร์รี่หน่อยค่ะ” “ได้น้องสักครั้งจะตั้งใจทำงาน” รวมถึงการเหยียดเพศ ดูถูกเพศสภาพของผู้อื่น เช่น บางทีคนคอมเมนต์อาจจะทำโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาตามมา แต่คำพูดเหล่านั้นมันกระทบต่อจิตใจของคนฟัง

ไม่ใช่แค่ผู้ชายกระทำกับผู้หญิงเท่านั้น แต่สมัยนี้ผู้หญิงหลายคนก็มีพฤติกรรมแบบนี้เช่นกัน คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่จริง ๆ แล้วก็นับว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ไม่ต่างอะไรกับที่ผู้ชายทำเลยแม้แต่น้อย…

สวมบทเป็นคนอื่น

คนพวกนี้ถือว่าว่างเอาเรื่องเลยนะ ลงทุนเปิดบัญชีเฟซบุ๊กใหม่ ปลอมตัวเป็นคนนู้นคนนี้ แล้วไปทำเรื่องแย่ ๆ สร้างความเสียหายให้คนนั้น ๆ หรือบางทีอาจจะมีคนลืม log out บัญชีออกจากเครื่องคอมฯ สาธารณะ หรือโทรศัพท์ของเพื่อนแล้วไอคนนั้นเอาบัญชีของคนอื่นไปโพสต์เรื่องแย่ ๆ นั่นก็ถือเป็น Cyberbulling เช่นกัน

แบล็กเมล์

เอาความลับของคนอื่นมาเปิดเผยอาจจะเป็นการแคปหน้าจอแชทมาแชร์ หรือแชร์รูปภาพส่วนตัว คลิปเสียง วีดิโอต่าง ๆ และเกิดการแชร์ต่อ ๆ กัน รวมถึงพวกที่ชอบตัดต่อภาพ ไม่ว่าจะเพื่อความสนุกหรือเพื่อต้องการให้เหยื่อเสียหายก็ตาม

หลอกลวง

หลอกลวงในที่นี้รวมทั้งการโพสต์หรือแชร์เรื่องไม่จริง เช่น “ดารา X เป็นชู้กับ Y” “นักร้องวง U ถูกรถชนเสียชีวิต” มีการพาดพิงถึงคนใดคนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริง รวมถึงการหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ หลอกให้โอนเงิน หรือนัดเจอเพื่อจะทำมิดีมิร้าย

ล่าแม่มด

มีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อโจมตีเหยื่อ คนพวกนี้จะตัดสินเหยื่อด้วยความคิดที่สุดโต่ง จ้องแต่จะจับผิด โจมตีแบบไม่ยั้ง โพสต์ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือโพสต์รูปที่ทำให้คนเข้าใจผิด ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงด้วยซ้ำ

วิธีรับมือกับ Cyberbullying

  • ถ้าถูกโจมตีทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ควรไปสนใจ คิดไว้ว่าคนพวกนั้นมันประสาท และที่สำคัญไม่ควรเก็บเรื่องไว้คนเดียว เพราะจะเป็นการกดดันตัวเอง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม
  • บันทึกหลักฐานไว้ฟ้อง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่หัวข้อกฎหมายข้างล่าง)
  • ถ้าร้ายแรงมาก ๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์​ อีเมล์​ ที่อยู่
  • ห้ามส่งรูป หรือข้อมูลสำคัญ ลงบนอินเตอร์เนต ถึงแม้ว่าจะส่งแบบส่วนตัวก็ตาม เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้

กรมสุขภาพจิตได้แนะนำวิธีรับมือไว้ คือ “2 ไม่ 1 เตือน” หมายถึง ไม่โต้ตอบ และ ไม่ส่งต่อ หลายคนชอบแชร์มาด่า แชร์เพราะไม่ชอบ แต่แบบนั้นก็จะทำให้โพสต์นั้นยิ่งแพร่กระจายออกไป และถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเตือนบุคคลที่เข้าข่ายใช้ความรุนแรง ยิ่งถ้าเขาเป็นคนใกล้ตัว หรือคนรู้จักของเราก็ยิ่งต้องเตือน

Cyberbullying คุณอาจกำลังทำอยู่ โดยไม่รู้ตัว

Written by: Typrn