ทหาร ระเบียบวินัย

ความรู้เกี่ยวกับ ทหาร-วินัยต่างๆ | การลงโทษ 5 แบบ หลักสำคัญห้ามแตะเนื้อต้องตัว!

Home / สาระความรู้ / ความรู้เกี่ยวกับ ทหาร-วินัยต่างๆ | การลงโทษ 5 แบบ หลักสำคัญห้ามแตะเนื้อต้องตัว!

ผู้ที่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร จากบทนิยามศัพท์ของคำว่าวินัยทหาร คือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบ
ธรรมเนียมทหาร โดยมิได้มีคำจำกัดความของคำว่าทหาร นั้น หมายถึงทหารประเภทใดบ้าง เนื่องจากทหารมีหลายประเภท โดยพิจารณาจาก พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งแบ่ง ทหารออกเป็น 4 ประเภท คือ

ความรู้เกี่ยวกับ ทหาร วินัยต่างๆ

ทหาร 4 ประเภท

ก. ทหารกองประจำการ (คือ ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะปลด)

ข. ทหารประจำการ (คือ ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งมิใช่ทหารกองประจำการ)

ค. ทหารกองเกิน (คือ ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา 16 หรือ ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา 18 แล้ว)

ง. ทหารกองหนุน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • 1) ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 (คือ ทหารที่ปลดกองประจำการโดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมการฝึกวิชาทหารและได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน ตาม พ.ร.บ.รับ ราชการทหาร พ.ศ. 2497)
  • 2) ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 (คือ ทหารที่ปลดออกจากกองเกิน ตามมาตรา 39 หรือปลดจากกองประจำการ ตามมาตรา 40)

ทหารที่ต้องอยู่ในบังคับแห่งกฎหมาย

เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของทหารทั้ง 4 ประเภท จะเห็นได้ว่า ทหารที่ต้องอยู่ในบังคับแห่งกฎหมาย ว่าด้วยวินัยทหารตลอดเวลาที่รับราชการก็คือ ทหารกองประจำการ และทหารประจำการ

ส่วนทหารกองเกินและทหารกองหนุนนั้น เป็นทหารที่มิได้รับราชการทหารและมิได้อยู่ประจำหน่วยทหาร จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ยกเว้นในกรณีที่ทหารกองเกินและทหารกองหนุนถูกเรียกเข้ารับราชการ ตาม มาตรา 36 กล่าวคือเมื่อถูกเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพลต้องตกอยู่ในวินัยทหาร เหมือนทหารกองประจำการ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ถูกเรียกเข้ารับราชการกรณีดังกล่าว ทั้งทหารกองเกินและทหาร กองหนุนต้องตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร เช่นเดียวกับทหารกองประจำการในฐานะเป็นผู้รับทัณฑ์

การลงทัณฑ์ 5 สถาน

ในการอยู่ร่วมกันของทหาร เมื่อทหารกระทำผิดวินัย ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์ ซึ่งทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น กำหนดไว้ 5 สถานเท่านั้น คือ 1. ภาคทัณฑ์ 2. ทัณฑกรรม 3. กัก 4. ขัง และ 5 .จำขัง กฎหมายยังได้นิยามความหมายของทัณฑ์แต่ละประเภทเอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน ได้แก่

ภาคทัณฑ์

ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้

ทัณฑกรรม

ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ

กัก

กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้

ขัง

ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง

จำขัง

จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

ห้ามมิให้คิดการลงทัณฑ์ขึ้นมาใหม่

กฎหมายยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า นอกจากทัณฑ์ 5 สถานนี้แล้ว ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด

ข้อพึงระลึกในการลงทัณฑ์

การลงทัณฑ์ทางวินัยเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย และเป็นไปในทางให้โทษแต่ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น ก่อนจะลงทัณฑ์ผู้ใด ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนแน่นอนว่าผู้รับทัณฑ์มีความผิดจริง โดยจะต้องชี้แจงให้ผู้กระทำผิดทราบด้วยว่าได้กระทำผิดในข้อใด เพราะเหตุใด แล้วจึงสั่งลงทัณฑ์ ทั้งนี้ ต้องระวังอย่าให้ลงทัณฑ์โดยโทสะจริตหรือลงทัณฑ์แก่ผู้ไม่มีความผิดโดยชัดเจนเป็นอันขาด (มาตรา 13)สำหรับทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิด ต้องเป็นทัณฑ์สถานใดสถานหนึ่งในทัณฑ์ 5 สถานเท่านั้น ห้ามมิให้คิดทัณฑ์ขึ้นใหม่หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 9 วรรคท้าย)

พฤติการณ์เข้าข่ายกระทำผิดวินัยทหาร

มีเนื้อหาในกฎหมายกำหนดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารเอาไว้ 9 ประการ ได้แก่

1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน

2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร

5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ

6. กล่าวคำเท็จ

7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร

8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

ลงทัณฑ์บุคคลที่มิใช่ทหาร

สำหรับบุคคลที่มิใช่ทหาร แต่ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งวินัยทหาร เพราะมีบทบัญญัติ ไว้ในตารางเทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ ท้าย มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.วินัยทหารฯ ในฐานะเป็นผู้รับทัณฑ์ ได้แก่

1. นักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร (นักเรียนนายร้อย, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนนายเรืออากาศ)

2. บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหาร โดยคำสั่ง รมว.กห. ตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503 มาตรา 10 บัญญัติว่านิสิตหรือนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่ กห.กำหนด ในระหว่างที่เข้ารับการฝึกวิชาทหารให้ถือว่าเป็นทหารกองประจำการ)

3. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารประทวน (นักเรียนนายสิบ , นักเรียนจ่า , นักเรียนจ่าอากาศ)

ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ทางวินัย (มาตรา 10)

ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดทางวินัยมี 2 ประเภท คือ ก. ผู้บังคับบัญชา (โดยตรงและตามลำดับชั้น) หรือ ข. ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาตามที่ กห. ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ กห.,ทบ., ทร., หรือ ทอ. กำหนด

หลักสำคัญก็คือ ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเสียก่อน เป็นเบื้องแรก ในกรณีที่ผู้สั่งลงทัณฑ์คือ ผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงหรือผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มักไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะเป็นการสั่งโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา

ส่วนผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจบังคับบัญชา นั้น โดยปกติจะมิใช่ผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การมอบอำนาจแก่ผู้ซึ่งมิใช่ผู้บังคับบัญชาให้มีอำนาจเสมือนเป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจลงทัณฑ์ได้นั้น จะต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เพราะหากการมอบอำนาจไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้วก็เท่ากับมิได้มีการมอบอำนาจ การกระทำการใด ๆ หรือการสั่งการย่อมเป็นการ
กระทำที่ปราศจากอำนาจและไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย สำหรับการมอบอำนาจที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด

ที่มา พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖วินัยทหาร , กฎหมายรับราชการทหาร ภาพจาก News.MThai.com

บทความน่าสนใจ