งานศพ ชีวิตหลังความตาย พิธีศพ ศาสนา

ความรู้เกี่ยวกับพิธีศพ (งานศพ) ในศาสนาต่างๆ

Home / สาระความรู้ / ความรู้เกี่ยวกับพิธีศพ (งานศพ) ในศาสนาต่างๆ

พิธีศพ (งานศพ) เป็นพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสการเสียชีวิตของบุคคล ประเพณีเกี่ยวกับงานศพนั้นแตกต่างไปตามวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งในสังคมไทยนั้น การได้รับพระราชทานเพลิงศพ ถือเป็นเกียรติต่อผู้เสียชีวิตและวงศ์ตระกูล มักพระราชทานให้แก่บุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม

พิธีศพ (งานศพ) ในศาสนาต่างๆ

เหตุใดชาวมุสลิมจึงต้องจัดพิธีศพภายใน 24 ชม.?

ชาวมุสลิมจะพิธีศพโดยการฝัง และต้องฝังโดยเร็วที่สุด นั่นหมายความว่าอาจเป็นการฝังทันทีที่เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องฝังภายในกี่วัน หรือฝังตอนไหน แต่ศาสนากำชับว่า ต้องฝังให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นหากพบศพตายเกินแล้ว 1 วันก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด ** สรุปก็คือว่า หากพบศพเมื่อไหร่ ไม่ว่าศพผู้นั้นจะตายมาแล้วกี่วันก็ตาม เราสามารถฝังศพผู้นั้นได้ทันที

การฝังศพมี 4 ขั้นตอน

1.อาบน้ำให้คนตาย 2.การกะฝั่น(ห่อ) 3.ละหมาดให้คนตาย 4.ฝัง .. โดยเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ข้างหลังทั้งหมด และต้องทำให้ครบ … หากพบศพในสภาพที่เน่าแล้ว ซึ่งเราไม่สามารถอาบน้ำมัยยิตให้ได้เช่นนี้ การใช้น้ำราดให้ทั่วร่างกายถือว่าเพียงพอแล้ว จากนั้นก็สามารถห่อกะฝั่นได้เลย

เหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ และสังคม

1. ลดภาระให้ผู้อยู่ข้างหลัง ที่จะมีค่าใช้จ่ายตามมากมาย 2. ป้องกันโรคระบาด 3. ไม่มีการรักษาสภาพศพไว้ ดังนั้นเมื่อตายแล้วรีบฝัง (ไม่ใช่ว่ายุคก่อนไม่มีน้ำยารักษาสภาพศพ เพราะน้ำยารักษาสภาพศพนั้นมีตั้งแต่สมัยฟาโรห์ เช่นกัน) 4. ไม่ต้องการให้ญาติพี่น้องผู้ตายโศกเศร้าเสียใจเกินเหตุ ฟูมฟายตีอกชกตัว เช่นนี้ ศาสนาห้าม…. ต้องเข้าใจยอมรับการจากไป เพราะทุกคนต้องตาย 5. การฝังทำให้ศพย่อยสลายได้รวดเร็ว

ยิ่งกว่านั้นในทัศนะอิสลาม ชีวิตหลังความตาย เป็นช่วงขอการรอคอย …รอคอยการสอบสวนการกระทำความดี-ความชั่วอีกครั้ง ก่อนจะไปสู่นิรันดร์ ฉะนั้น หลุมฝังศพ คือ สถานที่พักก่อนการฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อชำระบาป

ที่มา ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat / ความรู้เกี่ยวกับศาสนา

เกี่ยวกับพิธีการงานศพต่างๆ ในอดีต

1,000 ปีมาแล้ว ฝังศพเหยียดยาวไม่งอเข่า

ในดินแดนประเทศไทยมีพิธีฝังศพแบบวางราบเหยียดยาวเก่าแก่สุดราว 10,000 ปีมาแล้ว เช่น พบที่จังหวัดกระบี่, จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ (แต่บางท้องถิ่นในบางประเทศอาจนานกว่านี้) พิธีศพนี้มีบางท้องถิ่นเรียก “พิธีทำศพ” เริ่มพิธีเมื่อมีคนตายจนถึงเอาศพไปฝังเป็นเสร็จพิธี แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่ามีครั้งแรกเมื่อไร?
ฝังศพ เป็นพิธีกรรมของชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจและมีบริวารมากพอจะทำพิธีได้ หากเป็นสามัญชน คนทั่วไปไม่มีอำนาจ ไม่มีบริวาร ก็ทิ้งศพไว้ในที่ทั่วไปให้แร้งกาจิกกิน สถานที่ทิ้งศพเรียกกันภายหลังว่า ป่าเลว, ป่าเห้ว, เปลว เพราะคำว่าเลวหมายถึงไม่ดี บางท้องถิ่นออกเสียงเป็นเห้ว แต่บางพวกออกเสียงว่าเปลว ส่วนคนภาคกลางเรียก ป่าช้า เป็นคำเดียวกับเลว มักใช้ควบว่า เลวทรามต่ำช้า

3,000 ปีมาแล้ว เริ่มฝังศพงอเข่า ต้นเค้าโกศ

พบทั่วไปในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำโขงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ไทย, ลาว, เขมร, เวียดนาม ต่อเนื่องถึงมณฑลกวางสีในจีน (ที่อาจเป็นแหล่งฝังศพงอเข่าแบบเก่าสุด) คนยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่าคนตายคือ คนกลับคืนสู่บ้านเก่า คือท้องแม่ที่ต้องงอเข่าเข้าด้วยกัน ต่อมาคนดึกดำบรรพ์คิดทำภาชนะในศพงอเข่าไปฝังดิน เช่น ไหดินเผา (หรือ“แค็ปซูล”), หม้อดินเผา, จนถึงไหหินยุคสุวรรณภูมิในลาว, ไหหินยุคทวารวดีในพม่าและในไทย ฯลฯ ล้วนเป็นต้นเค้าเก่าสุดของโกศทุกวันนี้ ชุมชนบางแห่งของบางกลุ่มชาติพันธุ์ เชื่อว่าขวัญคนตายแล้วต้องกลับถิ่นเดิมทางน้ำ จึงเอาศพใส่ภาชนะคล้ายเรือไปไว้ในแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ถ้ำ, เพิง, ผา ฯลฯ บางพวกสลักรูปเรือไว้บนภาชนะสัมฤทธิ์ใส่ศพก็มี

1,500 ปีมาแล้ว เผาศพตามแบบอินเดีย แต่ทำศพอย่างอื่นด้วย

เผาศพเป็นพิธีของชมพูทวีป (อินเดีย) ที่แพร่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมศาสนาพราหมณ์ – พุทธ เมื่อราว พ.ศ. 1000 หรือราว 1,500 ปีมาแล้ว บางทีเรียกยุคทวารวดี นับตั้งแต่นี้ไปจะมีคติทำศพเรียก ปลงศพ มี 4 อย่าง ปะปนกันไปหรือต่างกันตามฐานะของคนตาย ได้แก่ ปลงศพด้วยดิน คือ ฝัง, ปลงด้วยน้ำ คือ โยนทิ้งในแม่น้ำลำคลอง, ปลงด้วยนก คือ ให้แร้งกากิน, ปลงด้วยไฟ คือ เผา
คนพื้นเมืองที่มีอำนาจรับแบบแผนชมพูทวีปมาปรับใช้ โดยเอาศพงอเข่าในภาชนะ แล้วยกลงเรือไปเผาบริเวณที่กำหนด ถือเป็นพระราชพิธีของกษัตริย์สืบมาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา มีเอกสารระบุว่าถวายพระเพลิงพระศพกษัตริย์อยุธยาบางพระองค์ในเรือนาค ช่วง พ.ศ. 2000 หรือก่อนหน้านั้น

400 ปีมาแล้ว แรกมีเมรุเผาศพเจ้านาย

เมรุเผาศพ แรกมีราวหลัง พ.ศ. 2100 มีเหตุชวนให้เชื่อได้ว่าจะเริ่มสร้างเมรุ (อ่านว่า เมน)หรือเขาพระสุเมรุ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ. 2181 หลังจากนั้นถึงใช้สร้างชั่วคราวด้วยไม้เผาศพเจ้านายเท่านั้น

เมรุยุคแรกใช้เผาศพเจ้านาย เรียก “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” ใช้งาน “ถวายพระเพลิงพระศพ” ส่วนคนทั่วไปเผาบนเชิงตะกอนอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นยาจกยากจนก็โยนให้แร้งกากิน

เมรุ หรือพระเมรุ เมื่อแรกมียุคกรุงศรีอยุธยา สร้างเลียนแบบนครวัด “วิษณุโลก” ที่จำลองเขาพระสุเมรุ โดยจินตนาการขึ้นจากภูเขาหิมาลัย .. รัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2411 – 2453) โปรดให้สร้างเมรุเผาศพอย่างถาวรด้วยปูนไว้ในวัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ

เมรุถาวรแห่งแรกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส ราวเกือบ 100 ปีมาแล้ว ยังสืบเนื่องใช้งานพระราชทานเพลิงศพสืบจนทุกวันนี้ แต่เอกสารบางเล่มระบุว่ามี “เมรุปูน” วัดสระเกศ ใช้เผาศพแล้วตั้งแต่สมัยรัชการที่ 3 กว่าเมรุเผาศพจะเริ่มมีในวัดอื่นๆ เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาอีกนานมากเกือบ 100 ปี คนแต่ก่อนเคยสร้าง “เมรุลอย” ถอดได้ (KNOCK – DOWN) เลียนแบบ “เมรุหลวง” ของเจ้านาย ให้คนมีฐานะเช่าไปใช้เผาศพที่ต่างๆ แต่คนฐานะด้อยกว่าก็ทำเชิงตะกอนประดับประดาด้วยเครื่องแกะสลักเป็นลวดลาย เช่น จักหยวก – แทงหยวก เป็นต้น

50 ปีมาแล้ว มีเมรุเผาศพ อยู่ในวัดทั่วประเทศไทย

เมรุเผาศพ ค่อยๆ แพร่เข้าไปอยู่ในวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงเรือน พ.ศ. 2500 หรือก่อนนั้นไม่นานหนัก ครั้นหลัง พ.ศ. 2500 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกแล้ว พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ลดลง ชนชั้นกลาง “กระฎุมพี” มีบทบาทสูงขึ้น จึงต้องการเผาศพบรรพบุรุษบนเมรุแบบเจ้านายและชนชั้นสูง เลยยกเอาเมรุเจ้านายเป็นแบบสร้างเลียนแบบไว้ตามวัดสำคัญๆ นานเข้าก็กระจายไปวัดราษฏรเล็กๆ ตามชานเมือง จนถึงวัดสำคัญของจังหวัดแล้วมีไปทั่วประเทศ

ภาพจาก พิธีฝังศพคุณพ่ออาโนล ของ เบลล่า ราณี , https://pixabay.com/

อ่านเพิ่มเติม