โต๊ะวาลี เป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุสลิม แต่อยู่ภายในพื้นที่ของ วัดแหลมมะขาม ซึ่งเปรียบเสมือนความเชื่อของชาวมุสลิมในเรื่องปาฏิหาริย์ และความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางใจ มีสถานที่ตั้งเป็นอาคารถาวรสำหรับประกอบพิธีกรรม มีสิ่งแสดงความเชื่อที่เป็นตัวแทนของโต๊ะวาลีคือ “ขอนไม้ขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวคน” ชาวมุสลิมทั่วประเทศที่เคารพนับถือ ได้เดินทางมายังโต๊ะวาลีเป็นประจำ
โต๊ะวาลี แท่นคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ในวัดแหลมมะขาม จ.ตราด
โดยชาวบ้านได้สร้างอาคารเรือนเครื่องไม้ เสาคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง มีแท่นคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายหลุมศพ ภายในส่วนบนมีทรายละเอียดเกลี่ยเรียบ ส่วนล่างเป็นแก่นไม้ขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวคนฝังอยู่ มองจากภายนอกจะเห็นเป็นกระโจมกรุด้วยผ้าลูกไม้สีสดคลุม
ทรายสีขาวละเอียด เมื่อทำพีธีบูชาเสร็จจะหยิบทรายโปรยลงบนศรีษะเพื่อเป็นศิริมงคล
ชาวมุสลิมทุกสารทิศมากราบไหว้ โดยในแต่ละปีจะมี 2 ครั้ง คือช่วงออกบวช ประมาณเดือนมกราคม ช่วงออกฮัจญ์ หลังออกบวช 100 วัน (หลังเมกกะ) โดยชาวมุสลิมที่ไปจะขอพรให้ร่ำรวย ค้าขายดี และหายจากโรคภัยไข้เจ็บ กล่าวได้ว่าโต๊ะวาลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนที่นับถือกันต่อมาจนปัจจุบัน
ความเชื่อเกี่ยวกับโต๊ะวาลีของชาวมุสลิม
โต๊ะวาลีเป็นเรื่องเล่าขานกันมานานหลายสิบปีในสองตำนาน..
ตำนานแรก
… ในสมัยที่จังหวัดตราดยังไม่มีถนนหนทางติดต่อจังหวัดหรือหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ติดต่อได้เพียงทางทะเล และในแต่ละวันมีเรือสำเภานำสินค้ามาจากกรุงเทพฯมาขายในจังหวัดตราดและนำสินค้าจากจังหวัดตราดไปขายยังกรุงเทพฯ
ซึ่งครั้งหนึ่งมีชายวัยกลางคน หน้าตาท่าทางใจดีสวมเสื้อธรรมดา แต่โพกศรีษะด้วยผ้า ขออาศัยเรือสำเภามายังจังหวัดตราด
ระหว่างทางมีลูกเรือสำนวนมากกว่า 10 คน มาด้วย ซึ่งแต่ละครั้งเรือสำเภาจะประสบปัญหามากมาย รวมทั้งการขาดแคลนน้ำจืด ลูกเรือทุกคนต้องใช้น้ำอย่างประหยัด แต่ชายที่ขออาศัยมาด้วยกลับใช้น้ำจนหมด ทำให้ลูกเรือโมโหมาก เมื่อใกล้ถึงจังหวัดตราด ลูกเรือจึงเข้าทำร้ายด้วยความโมโห ที่ดื่มน้ำจนหมด
ชายผู้นั้นจึงใช้เท้าราน้ำ แล้วบอกว่าน้ำทะเลจืด ไม่มีใครเชื่อและยังดุด่าตลอด อย่างไรก็ตาม … ลูกเรือผู้หนึ่งทดลองชิมน้ำทะเลดู จึงรู้ว่าน้ำทะเลนั้นจืด … ทำให้ลูกเรือทั้งหมดประหลาดใจ พากันกราบไหว้ชายผู้นั้น แม้ชายผู้นั้นร้องห้าม เพราะเขานับถือศาสนาอิสลาม จะมากราบไหว้ไม่ได้ แต่ลูกเรือก็ไม่ฟัง
ชายผู้นั้นเห็นท่าไม่ดีจึงกระโดดลงจากเรือสำเภา พร้อมแสดงปาฏิหาริย์เดินบนผิวน้ำ บริเวณบ้านแหลมมะขาม อำเภอเหลมงอบ จังหวัดตราด
ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้พ่อค้าและลูกเรือที่ผ่านไปมาบริเวณนี้ ต่างกราบไหว้ขอพรตลอดเวลา เป็นที่เลื่องลือของชาวบ้านย่านนั้น เป็นผลให้มีการตั้งชื่อว่า “โต๊ะวาลี” ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ใจดีมากับน้ำ
ตำนานที่ 2
เป็นเรื่องเล่าของชาวบ้านน้ำเเชี่ยวว่า มีคนไทยมุสลิมที่บ้านน้ำเชี่ยว ฝันว่ามีชายคนหนึ่งมาเข้าฝัน บอกว่าเป็นผู้รับใช้พระเจ้า รับบัญชาให้มาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวบ้าน ตอนนี้อาศัยอยู่กับสมภารวัดแหลมมะขาม โดยเป็นการฝันแบบเดียวกันนี้หลายคืนติดต่อกัน
ซึ่งการฝันในช่วงหลัง บอกว่าได้สิงสถิตอยู่ในขอนไม้หลังวัดแหลมมะขาม เมื่อชายผู้นั้นเดินทางมาที่วัดแหลมมะขามก็ได้พบว่ามีขอนไม้อยู่จริง โดยพบขอนไม้วางพาดบนตลิ่งท้ายวัด จึงได้ทำพิธีเชิญกลับไปอยู่ในบ้านน้ำเชี่ยว ชาวบ้านได้พากันนำเรือมาลากออกจากตลิ่ง แต่ปรากฏว่าพอขอนไม้หลุดมาจากตลิ่งเชือกก็ขาด เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง
จนในที่สุด ชายคนเดิมก็ฝันว่า วิญญาณที่สิงอยู่ในขอนไม้มาบอกว่า “อย่าพยายามเอากูกลับมาเลยให้กูอยู่ตรงนี้แหละ แล้วพวกมึงจะอยู่เย็นเป็นสุข”
ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก www.museumthailand.com , www.mtoday.co.th , ททท.
บทความแนะนำ
- เที่ยวชุมชนบ้านแหลมมะขาม ย้อนรอยพระพุทธเจ้าหลวง เรียนรู้นิเวศน์ป่าโกงกาง ลุยเลนลานล่าหอยปากเป็ด
- เที่ยวเกาะหมาก – แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะหมาก Koh Mak
- ทำไมต้องใช้ใบมะตูมทัดหู ในงานพิธีต่างๆ – ความหมายของใบมะตูมทัดหู
- 100 เรื่องน่ารู้ เรื่องน่าสนใจ เกี่ยวกับ ม.ธรรมศาสตร์
- ครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี (Summer solstice)